thansettakij
เช็กสิทธิ์ “เงินชาวนาปรัง” ไร่ละ 1,000 บาท ระส่ำ เงินไม่พอ

เช็กสิทธิ์ “เงินชาวนาปรัง” ไร่ละ 1,000 บาท ระส่ำ เงินไม่พอ

05 เม.ย. 2568 | 01:27 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2568 | 01:27 น.

เกษตรฯ แจ้งความคืบหน้าไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ระส่ำ เงินไม่พอ ต้องขออนุมัติงบเพิ่มเติม ช่วยเหลือชาวนานาปรัง ส่วนนาปี เตรียมดึงโรงสี เก็บข้าว ช่วยชาวนารับมือข้าวทะลัก

จากมติ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2568 โดยจ่ายตรง "เงินช่วยเหลือชาวนา" ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ วงเงิน 2,867.23 ล้านบาท มีเป้าหมายชาวนา 3.32 แสนครัวเรือน เนื้อที่ปลูก 5.5 ล้าน ล่าสุด วันที่ 24 มีนาคม 2568 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แจ้งผลการขึ้นทะเบียนนาปรัง ปี 2567/68 มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียน704,143 ครัวเรือน เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว และยังไม่รวมพื้นที่นาปรังจังหวัดภาคใต้ที่จะสิ้นสุดการลงทะเบียน 30 มิถุนายนที่จะถึงนี้นั้น

 

เช็กสิทธิ์ “เงินชาวนาปรัง” ไร่ละ 1,000 บาท ระส่ำ เงินไม่พอ

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและประธานเครือข่ายชาวนาไทยภาคเหนือ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง จากการหารือกับรัฐบาลโดยผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ( วันที่ 1 เม.ย.68)  ถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ขอรัฐบาลจะให้ไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 10 ไร่ ปรากฏว่าล่าสุดงบที่อนุมัติไว้  2,867.23 ล้านบาท ไม่เพียงพอ จะต้องใช้งบเพิ่มเติมอีก กว่า 3,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ  6,000 ล้านบาท ซึ่งทางผู้บริหารกระทรวงรับปากว่าได้แน่นอน  เมื่ออนุมัติวงเงินเพิ่มเติมแล้วก็จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้  ขณะที่ราคาข้าวชาวนาขายข้าวเปลือกได้ตันละ 4,000-5,000 บาท ขณะที่ต้นทุนข้าวอยู่ 7,000 บาท

 

 

ส่วนสำหรับนาปี ฤดูการผลิต 2568/69 จะใช้โครงการสินเชื่อชะลอนาปี โดยจะเพิ่มจากยุ้งฉาง มาเก็บข้าวสต็อกไว้กับโรงสี เพื่อรับมือข้าวทะลัก คาดว่าผลผลิตจะออกมามากและกระจุกตัว ขณะเดียวกันตลาดข้าวได้รับผลกระทบจากอินเดียกลับมาส่งออก สวนทางกับราคาข้าวไทยที่สูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ

ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  รายงานสถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 24-30 มีนาคม 2568 ข้าวนาปรัง ปี 2568 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2568 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.624 ล้านไร่ ผลผลิต 7.605 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 654 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.058 ล้านไร่ ผลผลิต 6.545 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 651 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก ปี 2567 ร้อยละ 15.57 ร้อยละ 16.20 และร้อยละ 0.46 ตามลำดับ

 

เช็กสิทธิ์ “เงินชาวนาปรัง” ไร่ละ 1,000 บาท ระส่ำ เงินไม่พอ

โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2567 และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ รวมถึงน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อต้นฤดูกาลเพาะปลูกมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว จูงใจให้เกษตรบางส่วนขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นาที่เคยปล่อยว่าง เพื่อปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม

สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าวคาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2568 โดยในเดือนมีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 2.535 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 33.34 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 3.216 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 42.29 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 4.389 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 57.71 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

 

ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

  • ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,331 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,243 บาท  ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.58
  • ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,994 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,304 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.73

 

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

  • ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 35,150 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 34,990 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46
  • ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.79

 

ราคาส่งออกเอฟโอบี

  • ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 982 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,082 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 991 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,122 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.91 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 40 บาท
  • ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,250 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,271 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.94 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 21 บาท
  • ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,654 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ439 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,673 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.91 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท

 

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.6883 บาท