สื่อนอกตีข่าว “กรมประมงไทย อนุมัติให้นำเข้ากุ้งจากฟาร์มกุ้ง 36 ฟาร์มในเอกวาดอร์ อ้างว่าผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัย และ Biosecurity แล้ว และเอกวาดอร์ยังแจ้งว่าประเทศไทยเตรียมที่จะอนุมัติโรงงานแปรรูปกุ้งเพิ่มเติมในอนาคต”
ข่าวที่ออกมานี้ เหมือนสายฟ้าฟาดมากลางใจเกษตรกร ตอกย้ำข่าวเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่สำนักข่าวต่างประเทศออกข่าวว่า ประเทศไทยได้ยกเลิกการแบนกุ้งจากเอกวาดอร์ เพื่อนำมาแปรรูปสำหรับส่งออกไปต่างประเทศ หลังจากประกาศแบนมานานหนึ่งปี หลังจากตรวจพบเชื้อ White spot syndrome virus (WSSV), Infectious hypodermal and hematopoietic necrosis virus (IHHNV) และ Yellow head virus (YHV) ที่ติดมาในตัวอย่างกุ้งจากเอกวาดอร์ รวมถึงข่าวการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดีย
เกษตรกรต้องช้ำใจอย่างหนัก จากข่าวทั้งสองเรื่อง เพราะกรมประมงในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำกลับเป็นคน “เปิดประตู” รับกุ้งจากคู่แข่งสำคัญของไทยเข้ามาขายในประเทศ ทั้งที่ผ่านมาเกษตรกรต้องแบกรับปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โดยเฉพาะในช่วงมกราคม-พฤษภาคม 2565 ที่ราคาปรับลดลงต่อเนื่องในทุกๆเดือน เพิ่งจะได้เห็นราคาขยับขึ้นมาได้แค่ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ที่การบริโภคกระเตื้องขึ้น จากการที่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณกุ้งในตลาดปรับลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย สภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกชุกสลับอากาศร้อนจัด ทำให้กุ้งน็อกตายยกบ่อเกิดความเสียหายอย่างหนักในหลายพื้นที่
คนเลี้ยงกุ้งพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเทศนี้อยู่ยาก พวกเขาจะเลี้ยงกุ้งไปเพื่ออะไร ในเมื่อกรมประมง หัวเรือใหญ่ที่ควรปกป้องเกษตรกรไทย ปกป้องคนไทย กลายเป็นเหมือนอยู่คนละฝั่ง ไม่ใช่แค่ไม่ดูแล แต่กลับชักศึกเข้าบ้าน เหมือนอยากให้เกษตรกรหมดอาชีพ เพราะนอกจากจะไม่ทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยบอกว่า “พร้อมจับมือเกษตรกร พลิกฟื้นกุ้งไทย ให้มีคุณภาพปลอดภัย เพื่อก้าวไกลสู่ความยั่งยืน” เพื่อทวงคืนอุตสาหกรรมกุ้งให้กลับมาผงาด ทวงแชมป์การเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกุ้ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูป อันดับ 1 ของโลก แต่จนแล้วก็ไม่สามารถทำได้ จึงคิดหาทางออกด้วยการนำเข้ามาแทน
เท่ากับกรมประมงมุ่งทำลายอาชีพ “ไม่เหลียวแลคนเลี้ยง” ปล่อยให้ทั้งกุ้งสองประเทศนี้ เข้ามารุมสกรัมเกษตรกรไทยอย่างร้ายแรงที่สุด ทั้งที่เมื่อตอนไทยขอให้ทั้งสองประเทศรับกุ้งไทยบ้าง กลับบ่ายเบี่ยงใช้ข้ออ้างเรื่องการต้องดูแลเกษตรกรในประเทศของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยไม่คิดจะทำอย่างเขา จึงเปิดประตูให้กุ้งเอกวาดอร์และกุ้งอินเดียสามารถส่งเข้ามาในไทยได้
เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรกับการขุดหลุมฝังเกษตรกร เพราะผลผลิตกุ้งจากเอกวาดอร์ที่จะทะลักเข้ามาในไทย ย่อมบิดเบือนกลไกตลาด ทั้งที่เกษตรกรไทยนั้นมี “ความสามารถ” ในการผลิต “กุ้งคุณภาพสูง” เพื่อป้อนความต้องการของคนไทยหรือแม้แต่การแปรรูปเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ
ที่สำคัญการมาถึงของกุ้งเอกวาดอร์ ย่อมนำมาซึ่งภาวะราคากุ้งในประเทศตกต่ำ ทำลายเสถียรภาพราคากุ้งย่อยย้ำ เพราะไม่มีใครตอบได้ว่า กุ้งที่นำเข้ามานั้นจะไม่หลุดรอดมาขายในท้องตลาด และยังมีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้ง เป็นการเพิ่มโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนผ่านการนำเข้ากุ้งแช่แข็ง และต้องไม่ลืมว่าประวัติการติดเชื้อของกุ้งจากเอกวาดอร์นี้ก็มีให้เห็นจนถูกแบนมานานนับปีดังกล่าวข้างต้น แล้วจะยอมเสี่ยงเปิดให้กุ้งอมโรคเข้ามาทำลายเกษตรกร อย่างนั้นหรือ?
ยังไม่นับปัญหาคุณภาพความปลอดภัย และการปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้าม รวมถึงยาปฏิชีวนะที่อาจตกค้างมาด้วย ซึ่งไม่เพียงสร้างความเสียหายแก่ผู้เลี้ยงเท่านั้น แต่คนไทยก็มีความเสี่ยงที่จะรับกุ้งอมโรคอมสารตกค้างด้วย
วันนี้ กรมประมง ต้องทำหน้าที่ปกป้องเกษตรกรคนไทย ปกป้องอุตสาหกรรมกุ้งไทย ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเรือธงที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามามากมาย ไม่ใช่ “ขุดหลุมฝังเกษตรกร” ด้วยกุ้งนำเข้าอย่างที่ทำอยู่ เพราะที่สุดแล้วเกษตรกรไทยจะค่อย ๆ ล้มหายตายจาก ซึ่งจะกระทบกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศ