นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ครั้งที่ 4/2565 และการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ครั้งที่ 4/2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ Zoom Meeting
โดยที่ประชุมได้ติดตามผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ GovTech คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมรับทราบผลการจัดพิธีมอบรางวัล AIC Award 2022 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาด้วย
จากนั้นที่ประชุมได้รับฟังผลการบริหารการขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC จังหวัดตรัง นำเสนอโดยศูนย์ AIC จังหวัดตรัง มีวิสัยทัศน์ “จังหวัดตรังผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ เกษตรกรมั่นคง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” เน้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตการแปรรูป การตลาดของสินค้าเกษตรของจังหวัด พร้อมส่งเสริมการนำงานวิจัย เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรของจังหวัด
เช่น ตู้ฟักไข่อัจฉริยะ Smart Incubator เป็นตู้ฟักไข่ขนาด 378 ฟอง ซึ่งตู้ฟักและตู้เกิดมีระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น เครื่องคั่วโอ่งอัตโนมัติ เลือกใช้โอ่งมังกรขนาด 6.5 นิ้ว สามารถคั่วกาแฟได้ ครั้งละประมาณ 1 กิโลกรัม โอ่งมังกรจะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมขึ้นของเมล็ดกาแฟ และมีลักษณะวางเป็นแนวนอนเพื่อให้ความร้อนกระจายได้ดี และการเลี้ยงหอยนางรมด้วยตะแกรงพลาสติก 3 ชั้น การเลี้ยงหอยนางรมที่มีขนาดตั้งแต่ 5 มม. ด้วยตะกร้าพลาสติกแบบแขวน 3 ชั้น สามารถรองรับลูกหอยนางรมประมาณ 450 ตัว/1 ชุด ซึ่งในพื้นที่กระชัง 9 ตร.ม. (เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลการประกวด AIC Award 2022รองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม สาขานวัตกรรมเกษตรเพื่อเศรษฐกิจ)
นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence: CoE) จังหวัดอุทัยธานี ยังได้รายงานผลการดำเนินการของศูนย์ CoE กระบือลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งอบรมบ่มเพาะ รวบรวมและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร ภูมิปัญญาด้านการเกษตร และนวัตกรรมทางการเกษตร พร้อมเป็นศูนย์กลาง ในการให้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร
ประกอบกับ จังหวัดอุทัยธานีเป็นจังหวัดที่มีกระบือจำนวนมากและมีคุณภาพ รวมทั้งมีตลาดที่เป็นแหล่งรับซื้อขายกัน จึงเห็นว่าควรให้มีการพัฒนาโครงการ “งานฟาร์มอนุรักษ์กระบือเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ การอนุรักษ์ ต่อยอดเชิงธุรกิจ และพัฒนาคุณภาพกระบืออุทัยธานี