นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เปิดเผยว่า วันที่ 2 กันยายนของทุกปีเป็นวันมะพร้าวโลกโดยในปีนี้ ชมรมมะพร้าวนานาชาติ (International Coconut Community) ร่วมกับ สถาบันมะพร้าวของอินเดีย (Coconut Development Board) ได้จัดกิจกรรมมอบรางวัลให้บุคคลและองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมมะพร้าว และ พิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ เรื่อง การปฏิบัติการที่ดีและเหมาะสมต่อพืชมะพร้าว (International workshop on Good Agricultural Practices (GAP)
เป็นการจัดแบบผสมผสาน ทั้งดำเนินการจัดขึ้นทั้งในสถานที่ ที่เมืองเกราลา ประเทศอินเดีย และการประชุมออนไลน์ (on line และ on site) การประชุมครั้งนี้มีวิทยากรร่วมบรรยาย จากกรมวิชาการเกษตร ประเทศไทยและ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย เวียดนาม และ องค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กล่าว แสดงความยินดีกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ร่วมประชุม และผู้มีส่วนร่วมในการจัดประชุม International GAP Workshop และอวยพรให้การการประชุมเชิงปฏิบัติการ GAP ระหว่างประเทศ ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ และหวังว่า การประชุมนี้จะช่วยเพิ่มและเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนา GAP ด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารและความปลอดภัยของอาหารสำหรับทุกประเทศที่เข้าร่วม
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ให้ความสำคัญกับความสำเร็จของ SDGs, BCG Economy Models รวมถึงการใช้สารเคมีและปุ๋ยอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ เพื่อพัฒนาคุณภาพและการผลิตทางการเกษตร มุ่งสู่เป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารปี 2030 โดย GAP ไม่ได้เป็นเพียงแค่มาตรฐานต่างๆที่ร่างขึ้น แต่ GAP ช่วยปรับปรุงความปลอดภัยและการผลิตพืช ผัก ผลไม้ และปศุสัตว์อย่างยั่งยืน การรับรองแปลงผลิตพืชปลอดภัย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เจ้าของฟาร์มเพิ่มผลผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนการผลิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีทำให้ผู้ผลิตสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการของผู้ค้าปลีกและความต้องการของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น GAP จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงถึง “ความไว้วางใจในความปลอดภัยของอาหาร”
ทั้งนี้การรับรองแปลง GAP สามารถสร้างสรรค์และช่วยในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในการผลิตทางการเกษตร เช่น การผลิตมะพร้าวและการควบคุมการเก็บเกี่ยวในประเทศไทย ในด้านการแก้ปัญหาการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยจากผลกระทบจากข้อกล่าวอ้างที่ว่าใช้การใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทรมานสัตว์นั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มีนโยบายใช้ GAP เป็นแกนในการดำเนินมาตรการในการแก้ปัญหานี้ ด้วยมาตรการ GAP Monkey Free Plus
โดยได้จัดทำร่างเอกสารการตรวจรับรองแปลงมะพร้าวที่ปราศจากการใช้ลิงในการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นมาตรการนี้นอกจากการจะเป็นการตรวจรับรองสวนมะพร้าวให้เข้าสู่ระบบผลิตพืชอาหารปลอดภัย (GAP) แล้วยังเพิ่มการตรวจรับรองว่าแปลงนี้ไม่ได้ใช้ลิงเก็บเกี่ยว ทันทีที่มีการจัดทำ "GAP Monkey Free Plus" เสร็จสิ้น กรมวิชาการเกษตร หวังว่ามาตรการ “GAP Monkey Free Plus” นี้จะสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าไทย และรักษาตำแหน่งที่ครองอันดับหนึ่งของส่วนแบ่งการตลาดกะทิโลก อีกทั้งกระตุ้นและเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยอีกด้วย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตร ยังมุ่งสนับสนุนเกษตรกรโดยสนับสนุนให้ปลูกปลูกมะพร้าวพันธุ์ต้นเตี้ยและพันธุ์ลูกผสมพันธุ์ดีของกรมฯ และส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเครื่องมือช่วยในการเก็บเกี่ยวมะพร้าวเพื่อแก้ปัญหาในการเก็บเกี่ยวมะพร้าวมะพร้าว เนื่องจากมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจอายุยืน ปลูกแล้วเก็บเกี่ยวได้ยาวนานถึง 60 ปี
สำหรับ "วันมะพร้าวโลก" ถือเป็นวันสำคัญเพื่อปลุกจิตสำนึกในความสำคัญและประโยชน์ของมะพร้าว โดยปีนี้มีการมอบประกาศเกียรติคุณให้ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และ นักวิจัยมะพร้าว กรมวิชาการเกษตรในฐานนะผู้แทนประเทศไทย ในการเป็นสมาชิก ICC ได้ส่งชื่อ นางสาวนวลลออ เทิดเกียรติกุล เกษตรกรปลูกมะพร้าวน้ำหอมจากจังหวัดราชบุรี กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ปลูกมะพร้าวจากตำบลบางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร บริษัทเอ็นซีโคโคนัท จำกัด และนางสาวทิพยา ไกรทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรและหัวหน้าโครงการวิจัยมะพร้าว เป็นผู้รับประกาศนียบัตรจาก ICC