ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 สืบเนื่องจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้มีการเตรียม มาตรการเยียวยาเกษตรกร ปี 2564 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจประสบภัยพิบัติ จากปัญหาฝนตกหนักและฝนตกสะสม ชึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนสไลด์ จนอาจสร้างความเสียหายให้กับพืชผลของเกษตรกร
โดยกำชับให้ "กรมส่งเสริมการเกษตร" เตรียมความพร้อมในการตั้งแต่ก่อนเกิดภัย จนถึงมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับ "หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564" บังคับใช้เมื่อเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลเกณฑ์เยียวยาเกษตรกรจาก "หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564" ระบุอยู่ในเงินทดรองราชการระเบียบ/หลักเกณฑ์/ประกาศ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศ ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ลงนามโดย นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ด้านการเกษตรให้ดำเนินการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น โดยการเบิกจ่ายให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตรา ดังต่อไปนี้
ด้านพืช
ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นเงิน ดังนี้
- กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้อีก ให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ในอัตรา ดังนี้
ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท
พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท
ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท
- กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกได้ถูกหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน รวมทั้งซากวัสดุทุกชนิดทับถม จนไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้และหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
- กรณีดังกล่าวได้ ให้ช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการขุดลอก ขนย้ายหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน รวมทั้งซากวัสดุ ที่ทับถมพื้นที่แปลงเกษตรกรรม เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชได้ในขนาดพื้นที่ไม่เกิน 5 ไร่ ทั้งนี้ ราคาไม่เกินไร่ละ 7,000 บาท
ด้านประมง
ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติที่สัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงิน ดังนี้
กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
ปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร
ทั้งนี้ หากคิดคำนวณพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใดจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท
เช็คที่นี่ เกณฑ์เยียวยาเกษตรกร 2564 ประสบน้ำท่วม-ภัยพิบัติ ได้เงินกี่บาท
ด้านปศุสัตว์
ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีที่เป็นการจัดหาอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ เพื่อการฟื้นฟูสุขภาพสัตว์เลี้ยง และการจัดหาอาหารสัตว์ ตามราคาท้องตลาด หรือตามความจำเป็นเหมาะสม
การให้ความช่วยเหลือกรณีแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้ ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงิน ในอัตราไร่ละ 1,980 บาท แต่ไม่เกินรายละ 30 ไร่
การให้ความช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหายจริง แต่ไม่เกินเกณฑ์การช่วยเหลือที่กำหนด โดยให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นเงิน ดังนี้ (ตามรูปด้านล่าง)
ด้านการเกษตรอื่น ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ดังนี้
การปรับเกลี่ยพื้นที่ด้านการเกษตรที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับเกลี่ยพื้นที่การไถพรวน การก่อสร้างคันดิน เพื่อการเพาะปลูกพืชหรือประกอบกิจกรรมด้านการเกษตรที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายโดยเหมาจ่าย โดยช่วยเหลือพื้นที่ที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 800 บาท
การปรับเกลี่ยพื้นที่นาเกลือทะเลที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับพื้นที่ทำนาเกลือทะเล ให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่ที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่
ค่าซ่อมแซมอาคารชลประทานและระบบชลประทานให้สามารถใช้งานได้ในช่วงฉุกเฉิน โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการระบายน้ำ ในกรณีใช้เครื่องจักรกลของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อดำเนินการขุดลอกเปิดทางน้ำ งานกำจัดวัชพืชที่กีดขวางการระบายน้ำ งานขุดลอกดิน ทราย วัสดุที่ทับถมทางระบายน้ำ ให้นำอัตราราคางานตามราคากลางที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณหรือกระทรวงการคลังมาใช้โดยอนุโลมค่าจ้างเหมารถยนต์ ค่าระวางบรรทุกรถไฟและเรือบรรทุกของเอกชน เพื่อใช้ในการขนย้ายสัตว์เลี้ยงที่ประสบภัย และที่นำไปสนับสนุนหรือขนส่งพืชหญ้าอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์ ให้เบิกจ่ายดังนี้
- ค่าจ้างเหมารถยนต์และเรือบรรทุกของเอกชน ให้จ่ายเป็นรายวันตามราคาท้องถิ่น
- ค่าระวางบรรทุกทางรถไฟ ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
กรณีมีความจำเป็น หากรายการใดมิได้กำหนดให้จ่ายเป็นเงินให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจอนุมัติให้การช่วยเหลือพิจารณาให้จ่ายเป็นเงินก็ได้ โดยคำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม