นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าคาดปีนี้ 2565 ตลาดส่งออกอิรักน่าจะแตะ 1 ล้านตัน ซึ่งบริษัทเรา เพียงแค่บริษัทเดียวที่ส่งออกในขณะนี้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนตันแล้ว จากที่ส่งออกไปเรื่อยๆ เทรดเดอร์เองก็มีความมั่นใจเพิ่มขึ้นจะมีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง จากที่ไม่ซื้อมาเลย ในรอบ 7 ปี เรียกว่าพีคสุดๆ ส่วนปลายปีคาดว่าจะเบาบางนิดหนึ่ง เนื่องจากมีการกลับซื้อข้าวจากสหรัฐอเมริกาบ้าง แต่ไม่ทราบปริมาณที่แน่ชัดว่ามากหรือน้อยแค่ไหน โดยรวมราคาข้าวไทยก็ถูกกว่าอยู่แล้ว ต่างกัน 100 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นชนิดข้าวขาว
อย่างไรก็ดีต้องประเมินสถานการณ์การเมืองว่าเป็นอย่างในอิรัก แต่ว่าตอนนี้ข้าวไทยไม่ได้ติดปัญหาเรื่องคุณภาพแล้ว เป็นที่ยอมรับแล้ว ก็ต้องลุ้นให้มาซื้อข้าวหอมมะลิบ้าง เพราะในประเทศอิรักจะนิยมรับประทานข้าวบาสมาติ จากอินเดีย
“อยากให้ทางประเทศอิรักหันกลับมาซื้อข้าวหอมมะลิ นำร่องสักประมาณ 1-2 แสนตันต่อปี จะช่วยทำให้ตลาดข้าวหอมมะลิในประเทศไทยดีขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีการส่งออกข้าวหอมมะลิเลย ทางเทรดเดอร์ก็บอกให้ดูปลายปีนี้จะมีช่องทางไหม เนื่องจากประเทศดังกล่าวนิยมข้าวบาสมาติ หากนำเข้าไปก็ยังไม่แน่ใจว่าจะขายได้หรือไม่ “อิรัก” ไม่ได้เกี่ยงราคา จะเน้นคุณภาพมากกว่า ราคาขายข้าวขาว จะสูงกว่าตลาดอื่นด้วย
นายศุภชัย กล่าวว่า ปลายปีนี้ต้องลุ้นประเทศจีน เพราะประสบภัยแล้งมาก มีโอกาสที่จีนจะกลับมาซื้อข้าวไทยจำนวนมาก พวกข้าวหอมมะลิ ปลายข้าว และข้าวขาว เชื่อมั่นว่ามีโอกาสสูงมาก
สอดคล้องกับ นายวันนิวัฒ กิติเรียงลาภ รองประธาน บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด และในฐานะรองเลขาธิการสมาคมส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ครึ่งปีแรก ส่งออกข้าวไทย ไปตลาดอิรัก ปริมาณ 6.5 แสนตันแล้ว แล้วส่งออกขั้นต่ำเดือนละ 2 แสนตัน จะส่งออกในปีนี้ ปริมาณ 1.3 ล้านตัน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง ในช่วง 6 เดือนแรก การโหลดสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่น และง่าย
แต่ว่าในช่วง 6 เดือนหลัง ตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม ไปนับจากนี้มีฝนตกประมาณวันละ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้การขนส่งสินค้ามีความล่าช้า ดังนั้นการที่เราจะโหลดให้เร็วขึ้น ส่งสินค้าให้ลูกค้าเร็วขึ้นทำได้ยาก ตอนนี้ทยอยส่งมอบไปเรื่อยๆ อาจจะมีคำสั่งซื้อไปถึงเดือนพฤศจิกายนแล้ว ไม่กังวล ตลาดอิรัก ซื้ออยู่แล้ว จากปกติไม่ซื้อข้าวไทยเลยในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ข้าวไทยราคาถูกกว่า แต่ตอนนี้หันมาซื้อข้าวไทยเป็นหลักแล้ว ไปซื้อประเทศอื่นน้อยลง เป็นประเทศที่ปลูกข้าวไม่ได้ ต้องนำเข้า
ส่วนการคาดการณ์ส่งออกภาพรวมทั้งปี ยังคงเป็นไปตามเป้าที่ 7 ล้านตัน จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม 2565) มีปริมาณ 4,085,198 ตัน มูลค่า 71,105.4 ล้านบาท (2,127.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 53.6% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 41.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 2,659,012 ตัน มูลค่า 50,108.3 ล้านบาท (1,646.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) คงไม่ได้เพิ่มขึ้นและจากนี้ไปประกอบมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้การขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือต้องล่าช้ากว่ากำหนด จึงทำให้การส่งออกข้าวทุกชนิดมีปริมาณลดลง จึงทำให้เป้าไม่น่าจะเกินไปถึง 8 ล้านตัน
“จะเห็นว่าตัวเลข เดือน 7 ตัวเลขยอดขาย มองดูว่าศักยภาพสูงสุดได้แค่นี้ ซึ่งมองดูว่าทำได้แค่นี้ก็ถือว่าเก่งแล้ว จะมองว่าไปได้กว่า 7 ล้านตัน ยาก แม้ว่าจะเห็นประเทศนั้น ประเทศนี้ส่งออกไม่ได้ เชื่อว่ามีลุ้นปลายปี เพราะจีน-ยุโรป บังกลาเทศ สหรัฐอเมริกา เผชิญภัยแล้ว และอินเดีย ที่เป็นจังหวัดใหญ่ๆ ปลูกข้าว เจอภัยแล้ง ล่าสุด “ปากีสถาน” เจอน้ำท่วมหนัก แบบหนักมาก จากการคุยกับคู่ค้า บอกว่าหนักมากกว่าภาพจากที่เห็นในข่าว ภาพเก็บไม่หมด ข้าวเสียหายทั้งหมด เพราะเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยว ต้องรอน้ำลงแล้วปลูกใหม่ ดูจากกระแสน้ำเชี่ยวมาก หากน้ำลด ต้นข้าวอาจจะฟื้นได้บางส่วน แต่คุณภาพคงแย่มาก”
นายวันนิวัฒ กล่าวว่า ให้นึกถึงภาพ ตอนที่ประเทศไทยน้ำท่วมใหญ่ ปี 2564 พอน้ำลดทุกคนพร้อมส่งออกทันทีหรือไม่ ก็ไม่ ต้องกลับมาเซ็ตอัพเครื่องใหม่ในโรงงาน ในตอนนั้นในเมืองไทยอาหารก็ยังไม่ได้ถึงขาดแคลน แต่มีความเสียหายเกิดขึ้นก็คล้ายกับปากีสถาน ก็เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวหลัก 2 ประเทศ ก็คือ จีน มาเลเซีย ในช่วงเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม เชื่อว่ามีปัญหาแน่นอน ซึ่ง 2 ประเทศ รอได้ไหม ถ้ารอไม่ได้ โอกาสก็จะมาตกที่ไทย กับเวียดนาม แม้ว่าจะมีโชค แต่ความคิดเห็นส่วนตัวปลายปี ซัพพลายไม่น่าจะล้น เรียกว่าสุดขั้ว อีกด้านภัยแล้ง อีกด้านน้ำท่วม
“ส่วนประเทศอินเดีย ก็มีข่าวบ่อยว่าจะหยุดส่งออก แต่ต้องนึกภาพให้ดี ว่าปัจจุบันอินเดียมีสต๊อกข้าวกว่า 40 ล้านตัน แล้ววันนี้คำถามกลับไปที่ว่า ขั้นต่ำที่จะต้องสต๊อกความมั่นคงในประเทศ ไม่เกิน 15 ล้านตัน ต่อให้การปลูกข้าว มีปัญหา ที่ประมาณการไว้แล้วกว่า 10 ล้านตัน แล้วนำสต๊อกข้าว ที่อยู่ในโกดังรัฐบาลออกมาชดเชยในส่วนนี้ จำเป็นหรือไม่ที่จะหยุดส่งออก ก็มองว่าอาจจะไม่ เพราะการหยุดส่งออกมีผลกระทบต่อทุกอย่างเยอะมาก ไม่ใช่ใครจะทำก็ได้ เพราะทำไปแล้วเหมือนดาบสองคมก็อาจจะกลับมาแทงตัวเองได้
นายนิวัฒ กล่าวว่า มองว่ารัฐบาลไม่น่าทำ พอทุกครั้งที่ประเทศอินเดียประกาศ ราคาตลาดตกลงทันที ให้นึกว่าหากเป็นประเทศไทยประกาศ ก็ต้องดัมพ์ราคาเทขายเทของทิ้ง เพราะเป็นผู้ส่งออกก็ส่งออกขายใครไม่ได้ ทุกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ราคาตลาดลงทันทีเพราะกลัวรัฐบาลจะหยุดส่งออก เพราะจริงแล้ว ของไม่ได้ขาดที่ทุกคนจะต้องกักตุน แล้วความจริงไม่ได้เกิดความโกลาหลขนาดนั้น แต่ที่อินเดียประกาศหยุดส่งออก ก็คือ “ปลายข้าว”
“เปิดสาเหตุ ทำไม อินเดียถึงจะหยุดส่งออก เพราะก่อนหน้านี้อินเดียไม่เคยส่งออกปลายข้าวจำนวนมากเหมือนทุกวันนี้ โดยรวมปี 2564 ปีที่แล้วส่งออกปลายข้าวไปจีน ปริมาณ 1.3-1.4 ล้านตัน แต่ปีนี้ 7 เดือนแรกส่งออกไปจีน ปลายข้าวอย่างเดียว ปริมาณ 1.4 ล้านตัน เทียบเท่าปีที่แล้ว ทั้งปีแล้ว เมื่อก่อนปลายข้าวอินเดียก่อนที่จะเป็นที่นิยมก็มาซื้อขายอยู่ราคา 280 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาปัจจุบัน 330-340 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนต้นข้าวอินเดีย ก็ขายอยู่ ราคา 350 ดอลลาร์สหรัฐ บางช่วงราคาเท่ากัน ทำให้เกิดโกลาหล ทั้งตลาดโลก และในประเทศซื้อราคาปลายข้าวแพงขึ้น”
นายวันนิวัฒ กล่าวว่า นี่เป็นการส่งสัญญาณเพื่อดับความร้อนแรงราคาปลายข้าวในประเทศ เพื่อช่วยอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ราคาสัตว์ ในประเทศ จึงหยุดการส่งออก หรือจำกัดการส่งออก ก็มองว่าสมควรทำแล้ว มีเหตุและผล เพียงพอ จึงคิดว่าไม่น่ามีผลกระทบอะไรกับตลาดข้าว ก็อาจจะทำ ผลพวงคือคนที่ซื้อเยอะจีน เวียดนาม นำเข้าปลายข้าวป้อนอุตสาหกรรม ก็จะมีปัญหา ก็อาจจะหันไปหาซื้อประเทศอื่นทดแทน เช่น ประเทศไทย หรือไม่ ซึ่งก็เหลือไม่กี่ประเทศ ปัจจุบันปลายข้าว ในประเทศไทยก็แพงลิ่ว
ส่วนอินเดียก็ไม่น่าที่จะหยุดการส่งออกต้นข้าว เพราะพิจารณาจากตลาดส่งออก ราคาที่ส่งออกก็เป็นราคาถูก ซึ่งโชว์ตัวเลขที่ไม่โกหก แต่ถ้ามีการระงับส่งออกจริง ราคาข้าวอินเดีย ต้องพุ่งกระโดดลิบลิ่ว แล้วหยุดส่งออก หากส่งสัญญาณแบบนี้ เชื่อว่าจะมีการระงับส่งออกจริง แต่ ณ วันนี้ ราคาข้าวถูกที่สุดในโลก ส่งออกมากที่สุดในโลก แล้วรัฐบาลจะมีเหตุผลอะไรที่จะไประงับการส่งออก เพราะดีมานด์ -ซัพพลาย โกหกไม่ได้ อย่างไรราคาก็ต้องปรับขึ้นอยู่แล้ว อย่าง “ปลายข้าว “ปรับราคาขึ้นมาจริง อาจจะหยุดส่งออกจริง