นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เปิดเผย (8 ก.ย. 2565) หลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2565 โดยผ่านระบบการประชุมออนไลน์ และห้องประชุมกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วย นายโอภาส ทองยงค์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร ดร.จุฑามาศ ทะแกล้วพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันเกลือทะเลไทย (Salt Academy) ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมเพชรบุรี (AICเพชรบุรี) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนสหกรณ์นาเกลือ เข้าร่วม
โดยนายอลงกรณ์ กล่าวในวาระประธานแจ้งต่อที่ประชุมว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้เดินหน้าแผนพัฒนาเกลือทะเลไทยปี 2566 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม พร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 นอกจากนี้ได้มอบหมายฝ่ายเลขาฯ ประสานสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ (ทูตเกษตร) เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยในการประชุมครั้งหน้า เพื่อให้ข้อมูลด้านเกลือ ผลิตภัณฑ์เกลือและตลาดเกลือในต่างประเทศ
รวมทั้งข้อเสนอแนะจากทูตเกษตร ในด้านการขยายความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างประเทศ นอกจากนี้ได้กำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการที่เพชรบุรีเป็นจังหวัดแรกในวันที่ 9 กันยายน 2565 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยขอให้สถาบันพัฒนาเกลือทะเลไทยเป็นผู้นำเสนอผลงานด้วยประธานที่ประชุมยังแจ้งถึงการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาแบรนด์จังหวัดเพชรบุรี และการคิกออฟโครงการส่งเสริมสาหร่ายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ตามนโยบายอาหารแห่งอนาคต ในจังหวัดเพชรบุรี มีศูนย์วิจัยทรัพยากรประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืด กรมประมง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การแปรรูป และการตลาด โดยสามารถเพาะเลี้ยงสาหร่ายหรือทำนาสาหร่ายประกบคู่กับนาเกลือ นากุ้งเป็นรายเสริมแบบเกษตรไฮบริดจ์
สำหรับในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบ (1) รายงานผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรนาเกลือทะเล พื้นที่การผลิตเกลือทะเลและปริมาณเกลือทะเล ปีการผลิต 2564/2565 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 723 ครัวเรือน จำนวน 1,211แปลง พื้นที่ 13,408 ไร่ มีปริมาณผลผลิตคงค้างในยุ้งฉาง จำนวน 13,408 ตัน (2) ผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปีงบประมาณ พ.ศ.2565
ก่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมหลายประการได้แก่ การทำแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปีงบประมาณ 2566-2570 การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร การฟื้นฟูพิธีแรกนาเกลือและพิธีทำขวัญเกลือ การขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)
สำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562) มีเกษตรกรผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 11 ราย พื้นที่ 809.39 ไร่ การแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเลไทย การแก้ไขปัญหาเกลือทะเลค้างสต๊อก โดยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชดเชยส่วนต่างราคาขายเกลือทะเลให้กับเกษตรกร จำนวน 111 ราย ปริมาณเกลือทะเล 39,841.167 ตัน ค่าชดเชยส่วนต่างราคาเกลือทะเลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นเงิน จำนวน 9,960,291.75 บาท การจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานและเกณฑ์การพิจารณาความเสียหายสำหรับบรรจุในคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง
ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ โดยการช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ในปี 2565 มีเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี ได้รับการช่วยเหลือ 80 ราย พื้นที่ 719.50 ไร่ เป็นเงินรวม 877,790 บาท การส่งเสริมและพัฒนาเกลือทะเลให้เป็นมรดกทางการเกษตรของโลก การกำหนดแนวทางการส่งออกเกลือทะเลไปต่างประเทศ เพื่อใช้งานด้านต่าง ๆ เช่น เกลือสำหรับละลายหิมะบนถนนหรือรันเวย์สนามบิน การตรวจเยี่ยมหน่วยงานและภาคีเกษตรกร จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และจังหวัดจันทบุรี โดยเน้นติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานการพัฒนาเกลือทะเลไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงการผลิตเกลือกับผู้ประกอบการที่ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบและผู้ค้าส่งเกลือทะเล และสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้จากนาเกลือทะเลมาในการปลูกไม้ผล
(3) แผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีกิจกรรมในการพัฒนาเกลือทะเลภายใต้ 5 กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมการขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกลือทะเลไทย กิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาเกลือทะเลเพื่อลดต้นทุนการผลิต กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนเกลือทะเล กิจกรรพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการผลิตเกลือทะเล และกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาเกลือทะเลเป็นมรดกทางการเกษตรโลก (GIAHS) ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯ ขอให้หน่วยงานที่มีแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ส่งให้ฝ่ายเลขาฯ รวบรวมและจัดทำแผนการบูรณาการดำเนินการ ภายในวันที่ 15 กันยายน 2565 ต่อไป
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้นำเสนอปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยกลุ่มเกษตรกรทำนาเกลือบ้านแหลม ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมในครั้งที่แล้ว ในการขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้กู้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงสร้างระบบการผลิตและการตลาดเกลือของสถาบันเกษตรกร ด้วยวิธีการยกระดับราคาให้ยั่งยืน ของจังหวัดเพชบุรี จากเดิม ซึ่งครบกำหนดชำระภายใน วันที่ 31สิงหาคม 2565 เป็น ครบกำหนดชำระภายใน วันที่ 31 สิงหาคม 2568 โดยไม่คิดดอกเบี้ยและค่าปรับ เป็นระยะเวลา 3 ปี จังหวัดสมุทรสาคร ขอขยายระยะเวลา 2 ปี และจังหวัดสมุทรสงคราม ขอขยายระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะนำเสนอเรื่องการขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกรดังกล่าวให้ทางกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรพิจารณาต่อไป
“ที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ (1)โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมในครั้งที่แล้ว โดยการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล จำนวน 110 ราย รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของฟาร์ม แผนปรับปรุงกระบวนการผลิต และความสามารถในการชำระเงินกู้ โดยให้ใช้หลักประกันตามวิธีปฏิบัติปกติของ ธ.ก.ส. และอื่นๆ ที่ ธกส. กำหนด กรณีผู้กู้ที่เป็นรายบุคคล คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR ต่อปี ผู้กู้ที่เป็นนิติบุคคล คิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR ต่อปี”
โดยเรียกเก็บจากผู้กู้รายบุคคลลในอัตรา MRR-3 ผู้กู้ที่เป็นนิติบุคคลในอัตรา MLR-3 และกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันกู้ หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการชดเชยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ ธ.ก.ส. กรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ตามกำหนด ธนาคารคิดดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินส่วนที่ไม่ได้ชำระตามกำหนดเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยปกติสูงสุดที่เรียกเก็บจริงตามที่ระบุในสัญญา อีกร้อยร้อยละ 3 ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ โดยให้ชำระเสร็จสิ้นไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันกู้ ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่คณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) มีมติอนุมัติ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ ธ.ก.ส. กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาข้อมูลต้นทุนการปรับปรุงยุ้งฉางแต่ละขนาด และงบประมาณวงเงินในการปรับปรุงยุ้งฉางสำหรับเก็บเกลือของเกษตรกรด้วย
(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/66 โดยชุมนุมสหกรณ์เกลือทะเลไทย เพื่อชะลอการขายเกลือทะเล ราคาคงที่ ในราคา 1.50 บาท ต่อกิโลกรัม บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรนาเกลือด้านค่าใช้จ่ายในครอบครัวและหนี้สิน และยกระดับราคาเกลือให้สูงขึ้น รักษาราคาให้มีเสถียรภาพ ซึ่งที่ประชุม ให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว และมอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ ธ.ก.ส. กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากโครงการสินเชื่อชะลอการขายสินค้าเกษตรอื่น เช่น ข้าว ผลไม้ (ลำไย) ยางพารา และควรให้มีโครงการเสริมสร้างสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในการรวบรวมและรับซื้อผลผลิตด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุมพิจารณาได้เห็นชอบในการปรับแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ในปี พ.ศ.2565-2566 เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวมากขึ้นด้วย และในการจัดงานพิธีแรกนาเกลือ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกลือทะเลเป็นมรดกทางการเกษตรของโลก เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ ประเพณี สู่การท่องเที่ยว ให้ประสานทาง ททท. ร่วมด้วย ทั้งนี้อาจจะจัดให้มีการจัดกิจกรรมอื่นเสริมในงาน เช่น การเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ การปั่นจักรยาน เป็นต้น
ในส่วนวาะการประชุมอื่น ๆ ผู้แทนจากกรมการค้าต่างประเทศ รายงานการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ ทั่วโลกปี 2565 ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. มีปริมาณการนำเข้าเกลือ 98,985 ตัน มูลค่า 164,399,917 บาท มีพบว่าปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน ม.ค.-ก.ค. มีปริมาณการนำเข้า 80,750 ตัน มูลค่า 151,481,437 บาททั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เสนอถึงแนวทางในการยกระดับการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าและให้ทางสถาบันเกลือทะเลไทยศึกษาในรายละเอียดต่อไป