ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยยังรุ่ง “พาณิชย์”รุกตลาดอัญมณีครึ่งปีหลัง

09 ก.ย. 2565 | 05:12 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2565 | 12:19 น.

ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยยังรุ่ง“พาณิชย์”รุกตลาดอัญมณีครึ่งปีหลัง  จัด งานบางกอกเจมส์ ครั้งที่ 67 รวมพลผู้ส่งออกไทย ผู้ซื้อทั่วโลกกว่า 15,000 ราย คาดยอดขาย 5 วัน 3,000 ล้าน

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเผชิญความท้าทาย ต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การระบาดของโรคโควิด-19 จนถึง การเพิ่มขึ้นของต้นทุนโลจิสติกส์ ที่ส่งผลกระทบกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกในปัจจุบัน 

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ดังนั้นงานแสดงอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 67 (Bangkok gems and Jewelry fair :BGJF 67th Edition) ซึ่งเป็นการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในรอบ 2 ปีถือว่าประสบความสำเร็จ

ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยยังรุ่ง  “พาณิชย์”รุกตลาดอัญมณีครึ่งปีหลัง

โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า อัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก มุ่งเน้นรักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่าที่เคยเป็นตลาดสำคัญ และใช้ยุทธศาสตร์การสร้างพันธมิตรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับกับตลาดเป้าหมาย ด้วยการจัดทำ Mini FTA ที่ลงลึกระดับเมือง/รัฐ/มณฑลที่มีศักยภาพ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ กับเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของญี่ปุ่น เพื่อเสริมศักยภาพของกันและกันในการยกระดับอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน

ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยยังรุ่ง  “พาณิชย์”รุกตลาดอัญมณีครึ่งปีหลัง

โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 29.8% ในปี 2564 ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ถึง 4 เท่า สามารถนำรายได้เข้าประเทศ 194,950 ล้านบาท และในปี 2565 ตั้งเป้าไว้ที่ 234,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 149,842 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50.64%

ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยยังรุ่ง  “พาณิชย์”รุกตลาดอัญมณีครึ่งปีหลัง

“อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เนื่องจากมีผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในอุตสาหกรรมถึงกว่า 90๔ มีการจ้างแรงงานในห่วงโซ่อุปทานถึงกว่า 664,000 คน นอกจากนี้ อัญมณีและเครื่องประดับของไทยยังมีความโดดเด่นในด้านต่างๆ ที่มีทั้งความเชี่ยวชาญด้านการผลิต ช่างฝีมือที่เปี่ยมด้วยทักษะและฝีมืออันประณีตในการคัดสรร การเจียระไน การขึ้นรูป รวมถึงการออกแบบ ซึ่งจากศักยภาพดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก”

ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยยังรุ่ง  “พาณิชย์”รุกตลาดอัญมณีครึ่งปีหลัง

โดยมีผู้ประกอบการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมาจัดแสดงสินค้า จำนวน 1,020 บริษัท พื้นที่ 2,004 คูหา คาดว่าจะมีผู้ซื้อจากทั่วโลกเดินทางมาเจรจาการค้ามากกว่า 15,000 ราย มียอดการซื้อขายภายในงานสูงถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยส่งผลให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวเพิ่มขึ้นได้20% ตามเป้าที่ตั้งไว้