วันนี้ (12 ก.ย.65) ที่ อาคาร 99ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมชลประทาน และประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานฯ เข้าร่วมพิธีรับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ.2565 ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Video Conference (Zoom Meeting) จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานเป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร และการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ซึ่งในปีนี้ กรมชลประทาน ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 4 รางวัล จาก 2 สาขา ได้แก่
สาขาที่ 1 รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
1.1 รางวัล ระดับดีเด่น ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม จากผลงาน “ชำตาเรือง สานพลัง คนรุ่นใหม่ ใช้น้ำน้อย..แต่ (ได้ประโยชน์) มาก"
1.2 รางวัล ระดับดีเด่น ประเภทผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ กลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำ บ้านชำตาเรือง จังหวัดจันทบุรี จากผลงาน “ชำตาเรือง สานพลัง คนรุ่นใหม่ ใช้น้ำน้อย..แต่ (ได้ประโยชน์) มาก"
กลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำ บ้านชำตาเรือง จังหวัดจันทบุรี เป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำที่อยู่ทางตอนบนของอ่างเก็บน้ำศาลทราย ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ที่กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบท่อส่งน้ำบ้านซำตาเรือง เพื่อสนับสนุนน้ำให้พื้นที่การเกษตรกว่า 2,747 ไร่ ผู้รับประโยชน์ 118 ครัวเรือน
พร้อมให้คำแนะนำในการจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำบ้านซำตาเรือง ให้มีส่วนร่วมการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทาน จนเป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำที่มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี 2565
โดยในกลุ่มจะทำการบริหารจัดการน้ำส่งเข้าพื้นที่เพาะปลูกของแต่ละรายตามรอบเวร จึงทำให้ได้รับน้ำอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพ ไม่ต่างจากพื้นที่การเพาะปลูกที่อยู่ทางตอนล่างของอ่างฯ นับได้ว่าโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งตอนบนและตอนล่างของอ่างฯ ได้อย่างเท่าเทียมกัน
1.3 รางวัล ระดับดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม จากผลงาน “การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำด้วย ..ชลประทานเพื่อท้องถิ่น “ อ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จังหวัดเชียงราย ที่เกิดจากความต้องการของประชาชน ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมายาวนาน กรมชลประทาน ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในระยะก่อน-ระหว่าง-หลัง การดำเนินงาน จึงได้ลงพื้นที่ทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน
ผ่านกิจกรรมที่ต้องลงมือปฏิบัติจริงและเรียนรู้จากการลงมือทำตามวิธีการแบบ Action Learning ของงานชลประทานเพื่อท้องถิ่น สร้างโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดคุยหารือใกล้ชิดกันมากขึ้น เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายโดยไม่ตัดสิน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างรัฐและประชาชน “ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับประโยชน์” เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพ
สาขาที่ 2.รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ประเภทบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริหาร จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “โครงการบูรณาการข้อมูลในการปฏิบัติการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา” โดยการประปานครหลวง กรมชลประทาน กองทัพเรือ สำนักงานทรัพยากรน้ำ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
โดยร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำในการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค บริโภค ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่เพาะปลูกที่ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ รางวัลเลิศรัฐ ถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของกรมชลประทาน ที่มุ่งมั่นพัฒนางานด้านชลประทาน ผ่านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ตามพันธกิจ “เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 พันธกิจขององค์กร ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) ประเด็นที่ 4 “การสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม (Networking and Participation) ของทุกภาคส่วน
ในการบริหารจัดการน้ำชลประทานในระดับพื้นที่ (Networking Collaboration Participation)” เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำ สร้างเครือข่ายให้ครอบคลุม และยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการชลประทานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง