นายสุธาศิน อมฤก นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย (บังจู) โพสต์ กลุ่มสมาคม มีสมาชิก 1.9 หมื่นคน “ไหวไหม” กับร่างการปฏิบัติการที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ (ทบทวน) ขอให้ล้งไข่ ผู้ค้าไข่ ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับร่างฉบับนี้ อ่านโดยละเอียดก่อน ซึ่งร่างทวบทวนนี้ อาจมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ในวันนี้ แต่ไม่น่าจะแตกต่างจากตรงนี้มากนัก ซึ่งหลักการเหตุผลจำเป็นในการสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ (ทบทวน)
“ไข่” เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย และเป็นอาหารที่คนทุกวัยนิยมบริโภค เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่าย และสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายรูปแบบ ในปี 2564 ประเทศไทยมีเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่และเป็ดไข่มากกว่า 235,500 ครัวเรือน มีจำนวนไก่ไข่และเป็ดไข่มากกว่า 84 ล้านตัว โดยเฉลี่ยแล้วมีปริมาณการผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 42 ล้านฟองต่อปี และปริมาณไข่เป็ดประมาณ 98 ล้านฟองต่อปี และมีปริมาณการบริโภคอยู่ที่ประมาณ 38 ล้านฟองต่อปี ซึ่งเฉลี่ยแล้วในประเทศไทยมีการบริโภคไขไก่โดยเฉลี่ยประมาณ 223 ฟองต่อคนต่อปี
อย่างไรก็ตามไข่จัดเป็นอาหารกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านคุณภาพความสดของไข่ โดยไข่ที่ผลิตได้จากฟาร์มต่างๆ จะถูกรวบรวมไปยังศูนย์รวบรวมไข่เพื่อผ่านกระบวนการต่างๆ ก่อนจัดส่งไปยังผู้บริโภค ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วและลดการปนเปื้อนให้เหลือน้อยลง รวมถึงเพื่อเป็นการยกระดับการผลิตไข่ให้มีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะจึงจำเป็นต้องมีการจัดการตั้งแต่การผลิตขั้นต้นอย่างเหมาะสม
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) อยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนปรับปรุงมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และสามารถนำไปขยายผลให้มีการรับรองมาตรฐานฯ เพิ่มขึ้น โดยร่างมาตรฐานที่จัดทำขึ้นนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ แล้วจึงเห็นควรจัดสัมมนาระดมความเห็นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานฯ เพื่อนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงให้ร่างมาตรฐานฯ เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายสุธาศิน กล่าวว่า มีหลายข้อที่เป็นกังวล ยกตัวอย่าง ต้องทำการเคลือบไข่หลังทำความสะอาด โดยใช้สารเคลือบผิวทั้งชนิดและปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค และปฏิบัติตามกรณีมีกระบวนการเคลือบไข่ (coating) หลังการทำความสะอาด สารเคลือบไข่หากผ่านการใช้งานมาแล้วและพบสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ให้ทำความสะอาด เช่น กรองสิ่งปนเปื้อนออกและอุ่นที่อุณหภูมิ 80 *C (องศาเชลเชียส) เป็นเวลาอย่างน้อย 3 นาที ก่อนนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งไข่ที่ผ่านกระบวนการทำความสะอาดผิวแบบเปียกและเคลือบเปลือกไข่แล้ว
การบรรจุ และการเก็บรักษา ข้อ 3.5.1.4.4 มีมาตรการในการป้องกันการปนเปื้อนและการเสื่อมคุณภาพของไข่ ระหว่างการเก็บรักษาไข่ที่ผ่านกระบวนการบรรจุแล้วควรนำส่งไปยังสถานที่จำหน่ายให้เร็ว ภายใน 24 ชั่วโมงหากจำเป็นต้องเก็บรักษา นานกว่า 24 ชั่วโมง ควรเก็บไข่ในห้องที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 25 'C
ทั้งนี้คุณภาพความสดของไข่ ที่ออกจากศูนย์รวบรวมไข่ควรมีค่าความสด (haugh uni) ไม่ต่ำกว่า 65 (ข้อกำหนดหลัก) 3.5.1.4.5 กรณีเก็บรักษาไข่ โดยใช้ห้องเย็นควรดูแลไม่ให้เกิดหยดน้ำเกาะผิวเปลือกไข่หรือเหงื่อไข่ รวมถึงรักษาความสะอาด และรักษาระบบให้มีความเย็นสม่ำเสมอ (ข้อกำหนดหลัก)
3.5.1.5.1 ต้องมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนข้ามของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคที่มีประสิทธิภาพ เช่น1) แยกพื้นที่สำหรับไข่ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการออกจากไข่ที่บรรจุเรียบร้อยแล้ว และให้มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อตามความเหมาะสม
2) ควรแยกผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่สำหรับไข่ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ไข่ที่บรรจุเรียบร้อยแล้ว
3) ทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ เครื่องมือ อุปกรณ์ ภาชนะ และส่วนประกอบต่างๆ ที่ติดตั้งไว้ถาวร ให้สะอาดอย่างทั่วถึงและทำการฆ่าเชื้อหลังการปฏิบัติงาน (ข้อกำหนดหลัก)
นายสุธาศิน กล่าว การจัดระเบียบดังกล่าว หากใช้บังคับ แล้วให้ไข่ไก่อยู่ในห้องแอร์อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียล แล้วผู้ค้ารับไปต่อจะทำให้ไข่ไก่เน่าเสียเร็ว แล้วจะกระทบกับราคาไข่ไก่ที่จะต้องมีค่าดำเนินการในตรงนี้ที่ไม่สมควรจะต้องมี สุดท้ายภาระจะตกอยู่กับใคร แล้วล้งที่ไม่มีทุนรอน จะต้องออกจากอาชีพไปเพราะทำมาตรฐานไม่ได้ จะเหลือรายใหญ่ เหมือนกับสุรา