เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ในการประชุมเพื่อหารือกำหนดแนวทางรักษาเสถียรภาพราคาไข่ ครั้งที่ 1/2565 นายสัตวแพทย์สรวิศธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตไข่ไก่ในประเทศ และพิจารณากำหนดมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม และพิจารณามาตรการรักษาเสถียรภาพราคา จากแนวโน้มผลผลิตไข่ไก่ช่วงเดือนมิ.ย. - ก.ค. 2565 จะมีสะสมในระบบมากขึ้น
ทั้งนี้จะส่งผลให้แนวโน้มราคาไข่ไก่ปรับลดลง สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังอยู่ในระดับสูง สวนทางกับกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง ขณะโรงเรียนเริ่มมีการเปิดภาคเรียน On-site หลังจากเรียนออนไลน์มานาน ทำให้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายสำหรับบุตรหลานเพิ่มขึ้น คาดสถานการณ์ ช่วงเดือน มิ.ย.2565 ผลผลิตไข่ไก่จะล้นตลาดประมาณวันละ 1 ล้านฟอง
แหล่งข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงที่มาผลผลิตไข่ไก่ที่คาดจะล้นตลาดประมาณวันละ 1 ล้านฟองว่า กรมปศุสัตว์ได้แจ้งสถานการณ์จำนวนแม่ไก่ไข่ยืนกรง ณ ปัจจุบันทั่วประเทศอยู่ที่ 51.72 ล้านตัว ประมาณการผลผลิตไข่ไก่ 42.92 ล้านฟองต่อวัน (25 เม.ย. 65) ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มฟองละ 3.30 บาท (ข้อมูล สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณบุรี) ลูกไก่ไข่ตัวละ 26 บาท ไก่ไข่รุ่นตัวละ 160 บาท (ข้อมูลจาก CPF)
ทั้งนี้กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้แจ้งที่ประชุมว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ราคาไข่ไก่ต่ำกว่าราคาประกาศแล้ว 10 - 20 สตางค์ ขณะที่ ต้นทุนการผลิตไข่ไก่เฉลี่ยฟองละ 3.02 บาท (ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการต้นทุนฯ) มีแนวโน้มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารสัตว์ และพันธุ์สัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติขอความร่วมมือใน 2 มาตรการ ได้แก่ 1.ให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกราย เร่งปลดไก่ไข่ยืนกรงที่อายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัว ที่มิใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธะสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ และ 2. ผลักดันการส่งออกไข่ไก่เพื่อพยุงราคาในระหว่างรอผลการปลดไก่ไข่ยืนกรงเกินอายุ และขอความร่วมมือผู้ผลิตไก่ไข่พันธุ์ จำนวน 16 ราย ร่วมผลักดันการส่งออกไข่ไก่ในเดือนมิถุนายน 2565ตามสัดส่วนปริมาณการเลี้ยง ปริมาณทั้งหมด 80 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 26 ล้านฟอง เพื่อพยุงราคา
ทั้งนี้จากแผนนำเข้าเลี้ยง และรวบรวมไข่ไก่เพื่อส่งออก เดือน มิ.ย. 2565 ใน 3 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (บมจ.) แผนนำเข้า 1.16 แสนตัว ส่งออก กว่า 6.8 ล้านฟอง หรือประมาณ 21.09 ตู้คอนเทนเนอร์ รองลงมา คือ บริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด (บจก.) แผนนำเข้าเลี้ยง 7.2 หมื่นตัว ส่งออกกว่า 4.2 ล้านฟอง หรือประมาณ 13.18 ตู้ และลำดับที่ 3 บจก.อรรณพฟาร์มบ้านนา แผนนำเข้า 6.48 หมื่นตัว ส่งออก 11.78 ตู้คอนเทนเนอร์ (กราฟฟิกประกอบ)
แหล่งข่าวจากที่ประชุม กล่าวว่า ในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการข้างต้น แต่มีเสียงท้วงติงบ้าง เช่น เกรงไข่ไก่ในประเทศจะขาดแคลน จากมีบางรายจะขอปลดแม่ไก่เพิ่มเติม สรุปคือทางกรมปศุสัตว์จะตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะราคาไข่เริ่มมีปัญหาสวนทางกับต้นทุนที่สูงขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอยู่ในขณะนี้ อีกด้านหนึ่งมีเสียงจากกลุ่มที่เลี้ยงไก่ไข่ไม่เกิน 1 แสนตัวว่าไม่น่าจะไปยุ่ง เพราะไม่ใช่ผู้สร้างปัญหา แต่ระบุผู้สร้างปัญหาคือผู้เลี้ยงตั้งแต่ 3 แสนตัวขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีพันธุ์สัตว์ในมือหรือมีอิทธิพลในการขอพันธุ์สัตว์
ด้านนายสุธาศิน อมฤก นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย กล่าวว่า จาก 2 มาตรการข้างต้น ผลต่อสถานการณ์ราคาไข่ไก่ (ณ 6 มิ.ย.65) ยังไม่เห็นผลในทางบวกต่อราคาไข่ไก่ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มยังขายได้ต่ำกว่าราคาที่ประกาศประมาณ 20-30 สตางค์ต่อฟอง จากราคาประกาศ 3.30 บาทต่อฟอง เพราะต้องแย่งกันขาย เรียกว่าใครขายราคาต่ำก็ได้ขาย
อนึ่ง ข้อมูลในปี 2564 ไทยมีการส่งออกไข่ไก่สด 260.27 ล้านฟอง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 17.62% ส่วนปี 2565 (ม.ค.) ส่งออก 17.09 ล้านฟอง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 28.40 โดยตลาดหลัก ได้แก่ ฮ่องกง สัดส่วนร้อยละ 64 รองลงมา สิงคโปร์ ร้อยละ 28 (ข้อมูลกรมศุลกากร)
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปี 3,790 วันที่ 9-11 มิถุนายน 2565