ลุยสร้าง ถนนเลียบแม่น้ำโขง “นาคาวิถี” 43 กม. เชื่อมไทย-สปป.ลาว

15 ส.ค. 2565 | 11:01 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2565 | 18:07 น.

“ทช.” เดินหน้าออกแบบถนนเลียบแม่น้ำโขง “นาคาวิถี” 43 กม. เล็งของบปี 67 สร้างถนน หนุนระบบเศรษฐกิจท่องเที่ยวคมนาคมขนส่งไทย-สปป.ลาว

รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.ได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบโครงการก่อสร้างขยายถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย – ลาว (แห่งที่ 2) – พระธาตุพนม อำเภอเมือง, ธาตุพนม จังหวัดมุกดาหาร, นครพนม แล้วเสร็จ หลังจากนั้นกรมฯจะเตรียมของบประมาณในปี 2567 ต่อไป ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพต่อเติมโครงข่ายทางให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พัฒนาถนนให้เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวและเส้นทางชมทิวทัศน์ (Scenic Route) รวมทั้งยกระดับถนนให้มีความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางอย่างเต็มประสิทธิภาพ สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว การขนส่ง การลงทุนในพื้นที่ นำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา ทช.ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 2 ครั้ง โดยเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้มีการสรุปผลการดำเนินโครงการให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่อาจได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ได้รับทราบรายละเอียดของโครงการ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ร่วมพิจารณาแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในด้านต่าง ๆ จากนั้น ทาง ทช.จะได้นำประเด็นที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปประกอบการดำเนินโครงการให้มีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุดต่อไป

ลุยสร้าง ถนนเลียบแม่น้ำโขง “นาคาวิถี” 43 กม. เชื่อมไทย-สปป.ลาว

สำหรับแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร - สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) - หาดมโนภิรมย์ - วัดสองคอน – แก่งกะเบา และไปสิ้นสุดโครงการบริเวณทางเข้าพระธาตุพนม บนโครงข่ายถนนทางหลวงชนบททสาย มห.3003 และ นพ.3015 รวมระยะทาง 43.485 กิโลเมตร 

ลุยสร้าง ถนนเลียบแม่น้ำโขง “นาคาวิถี” 43 กม. เชื่อมไทย-สปป.ลาว

 

อย่างไรก็ตามตลอดสายทางผู้ใช้เส้นทางจะได้พบกับความงดงามของทัศนียภาพของแม่น้ำโขง หาดทรายน้ำจืด และเกาะแก่งต่าง ๆ รวมไปถึงความงดงามของศาสนสถานของศาสนาพุทธ/ศาสนาคริสต์ ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าค้นหา บนพื้นฐานการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่ผูกพันกับสายน้ำและพระพุทธศาสนา ตามแนวคิดสายน้ำแห่งความเชื่อ เส้นทางแห่งความศรัทธา “นาคาวิถี”