นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.ได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา กิจการค้าร่วม KUSIP ซึ่งประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บริษัท ยูทิลิตี้ ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ซี คอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท อินฟรา กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท โปรคอนเซ็ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษา โครงการศึกษาความเหมาะสมงานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ออกแบบรายละเอียด โรงงานมักกะสันแห่งใหม่ พร้อมจัดทำแผนการรื้อย้ายและจัดทำเอกสารประกวดราคา เพื่อประเมินความเหมาะสมในขั้นตอนการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สำหรับพัฒนางานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนของ โรงงานมักกะสันแห่งใหม่ในอนาคตพร้อมกับได้มีการเปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการฯ ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบอย่างถูกต้อง ตลอดจนรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการสรุปผลการศึกษา คัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีศักยภาพสำหรับพัฒนาโครงการ ตามแผนพัฒนาระบบการขนส่งทางราง และแนวทางการลงทุนในอนาคต
ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสัน ให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์และศูนย์กลางการคมนาคมขนาดใหญ่ของประเทศ พร้อมกับมอบหมายให้การรถไฟฯ จัดหาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานมักกะสันแห่งใหม่ เพื่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนแห่งใหม่ ทดแทนพื้นที่เดิม
ขณะเดียวกัน รฟท. ได้ศึกษาสถานที่ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ จำนวน 3 แห่ง ซึ่งได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นขั้นต้นในการคัดเลือกพื้นที่ไปแล้ว ประกอบด้วย พื้นที่โรงงานมักกะสันเดิมแต่มีการปรับปรุงให้มีความเหมาะสม พื้นที่บริเวณสถานีสุพรรณบุรี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ที่มีพื้นที่ประมาณ 240 ไร่ ซึ่งได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 และพื้นที่บริเวณสถานีชุมทางเขาชีจรรย์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 454 ไร่ ซึ่งได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565
ทั้งนี้กระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ถือเป็นกระบวนที่รฟท.ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นหัวใจที่จะก่อให้เกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างชุมชน กับผู้ดำเนินโครงการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าด้วยกัน นำไปสู่การพิจารณาปรับปรุงลักษณะโครงการให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนสูงสุด รวมถึงสามารถป้องกัน ปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในอนาคต
อย่างไรก็ตามหลังเปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากประชาชน (Market Sounding) ครั้งที่ 3 จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินศึกษาความเหมาะสมงานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ออกแบบรายละเอียด โรงงานมักกะสันแห่งใหม่ฯ ประสบความสำเร็จ สามารถรองรับการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย เต็มไปด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ประหยัดต้นทุนการผลิตบุคลากร สอดคล้องกับแผนการจัดหารถจักรและล้อเลื่อน รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในแผนการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มรายได้ให้แก่รฟท.ได้ในอนาคต