“โทล์ลเวย์” ติดแผงโซลาร์เซลล์สำนักงาน-ด่านเก็บค่าผ่าน ลดก๊าซเรือนกระจก

17 ก.ย. 2565 | 07:13 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2565 | 14:24 น.

“โทล์ลเวย์” ทุ่มงบ 12.9 ล้านบาท เดินหน้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ผลิตพลังงานทดแทนใช้อาคารสำนักงาน-ด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง ตั้งเป้าหมายติดตั้งครบสิ้นปี 67 ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 30 % ลดก๊าซเรือนกระจก 225 TonCO2e ต่อปี

นายนพพล โพธิ์ขี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน สายงานพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายขององค์กรที่สอดรับกับนโยบายของประเทศ ในการเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และได้มีการตั้งเป้าหมายที่ต่อเนื่อง คือ การมุ่งสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 นั้น  โดยหนึ่งในแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวของดอนเมืองโทล์ลเวย์  คือการลดการใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานทดแทนในกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้มากที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาอาคารสำนักงานใหญ่ และอาคาคารด่านเก็บค่าผ่านทางทั้ง 9 แห่ง เพื่อผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้าบางส่วน

“โทล์ลเวย์” ติดแผงโซลาร์เซลล์สำนักงาน-ด่านเก็บค่าผ่าน ลดก๊าซเรือนกระจก

 


“ในปี 2565 บริษัทฯ ได้ดำเนินการศึกษาการผลิตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และในไตรมาส 4 ปี 2565 มีแผนงานติดตั้งในระยะที่ 1 บนหลังคาอาคารสำนักงาน และหลังคาอาคารด่านเก็บเงินค่าผ่านทางดอนเมือง  ซึ่งจะทำให้ภายในสิ้นปีนี้  ดอนเมืองโทล์เวย์จะมีโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เอง ซึ่งจะมีกำลังการผลิตโดยรวม 183 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 50% ของแผนการติดตั้งทั้งหมดที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับอาคารสำนักงานทั้งหมดในธุรกิจ และมีแผนจะติดตั้งเพิ่มเติมในปีถัดไป ทั้งนี้ ยังไม่รวมโครงการศึกษาการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทนสำหรับไฟฟ้าแสงสว่างบนสายทางที่อยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีด้านการประหยัดไฟเช่น หลอด LED ผนวกรวมกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าจะมีผลการศึกษาออกมาในเร็วๆ นี้” 
 

นายนพพล กล่าวต่อว่า ดอนเมืองโทล์ลเวย์มีแผนงานที่ชัดเจน  ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง  เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนในสถานที่ปฏิบัติงานต่าง ๆ ของบริษัท ฯ ซึ่งในอดีต มีการใช้งานกับโทรศัพท์ฉุกเฉินทุกจุดของโทล์ลเวย์ และได้ทดลองทดสอบติดตั้งแอร์แบบไฮบริดจ์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สลับพลังงานไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าภายในปี พ.ศ. 2567 จะมีโซล่าเซลล์ติดตั้งบนหลังคา มีกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์รวม 373 กิโลวัตต์ ซึ่งคิดเป็นการผลิตไฟฟ้าใช้งานประมาณ 30% ของการใช้พลังงานในอาคารสำนักงานและอาคารด่านทั้งหมดในธุรกิจของบริษัทฯ ที่มีปริมาณการใช้งานประมาณ 2.5 ล้านหน่วยต่อปี ไม่นับรวมค่าไฟฟ้าแสงสว่างบนสายทาง 

“โทล์ลเวย์” ติดแผงโซลาร์เซลล์สำนักงาน-ด่านเก็บค่าผ่าน ลดก๊าซเรือนกระจก

 

สำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ใช้งบประมาณการลงทุนในระยะแรกประมาณ 5.3 ล้านบาท ที่อาคารสำนักงานใหญ่และอาคารด่านดอนเมือง หลังจากนั้นจะดำเนินการติดตั้งโซล่าเซลล์ในระยะถัดไปสำหรับอาคารที่เหลือ งบลงทุนประมาณ 7.6 ล้านบาท ดังนั้นการลงทุนในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยลดโลกร้อนแล้ว คาดว่าบริษัทฯ จะได้ประโยชน์จากการลดค่าไฟฟ้าจากโครงการ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ปัจจุบันค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งจะทำให้การลงทุนเพื่อประหยัดไฟฟ้าจากโครงการนี้มีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้นไปอีก
 

“โทล์ลเวย์” ติดแผงโซลาร์เซลล์สำนักงาน-ด่านเก็บค่าผ่าน ลดก๊าซเรือนกระจก

“การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาอาคารสำนักงานใหญ่ และอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางเพื่อผลิตพลังงานสะอาดใช้ ถือเป็นทางเลือกที่มีความยั่งยืน ทั้งในมิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ดอนเมืองโทล์ลเวย์ ยังมีโครงการอื่น ๆ อาทิ การใช้รถ EV ในกิจการของบริษัทฯ การติดตั้งสถานีชาจ์รถ EV สำหรับช่วยเหลือผู้ใช้บริการ การปลูกป่าผ่านกิจกรรม CSR เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายของบริษัท ฯ ในการเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050”