จากกรณี ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass พ.ศ. 2565
อ่านราชกิจจานุเบกษา ประกาศ กทพ. ค่ารักษาบัญชีบัตร Easy Pass
พร้อมทั้งที่มีข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณี การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะเรียกเก็บเงินค่ารักษาบัญชีบัตร Easy Pass จำนวน 25 บาท ต่อเดือน โดยจะเริ่มเก็บภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2565 นั้น
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง นั่นก็คือ กทพ.จะเรียกเก็บค่ารักษาบัญชี ดังนี้
ทั้งนี้จะเริ่มเก็บค่ารักษาบัญชีจากผู้ใช้บัตร Easy Pass ที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ภายใน 1 ปี ในเดือนตุลาคมปีหน้า คือปี 2566
เนื่องจากการให้บริการบัตร Easy Pass กทพ. ต้องจัดหาตัวอุปกรณ์บัตร OBU และบัตรสมาร์ทการ์ดให้ โดย กทพ. ได้ให้ผู้ใช้ทางพิเศษใช้บริการฟรี เพียงแต่ต้องเติมเงินค่าผ่านทางในบัตร ซึ่ง กทพ. ต้องมีการบริหารจัดการในทุกบัญชี
ดังนั้น ผู้ใช้บริการควรต้องใช้บริการตามวัตถุประสงค์ที่ขอสมัครไว้ และหากผู้ใช้บริการมีความจำเป็นที่จะไม่ใช้บัตร Easy Pass อาทิ ไปทำงานต่างประเทศ หรือเหตุอื่น ๆ ก็สามารถติดต่อ กทพ. เพื่อขอยกเลิกการใช้งาน ซึ่งจะได้รับเงินในบัตรคืน
อย่างไรก็ตามก่อนจะครบกำหนด 1 ปี กทพ. จะได้ส่ง SMS หรืออีเมล แจ้งให้กับผู้ใช้บริการ Easy Pass ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวให้ทราบล่วงหน้าว่าจะเริ่มเก็บค่ารักษาบัญชี
สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว กำหนดการเก็บค่าธรรมเนียมกรณีผู้ใช้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติที่ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศการทางพิเศษแห่งประเทศไทยนี้ใช้บังคับ
ทั้งนี้ ต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass ในอัตราเดือนละ 25 บาท หรือไม่เกินมูลค่าคงเหลือในบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass
ทั้งนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะทำการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass โดยหักเงินในบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass ทุกเดือน
เมื่อจำนวนเงินในบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass ของผู้ใช้บริการถูกหักค่าธรรมเนียม จนไม่มีจำนวนเงินคงเหลือในบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass บัญชีดังกล่าวของผู้ใช้บริการจะถูกปิดและยุติการใช้งานบัตร Easy Pass ทันที