ซีพี ออลล์เตรียมเปิดขายหุ้นกู้คล้ายทุนเดือนสิงหาคมนี้ ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ยอมจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าหุ้นกู้ปกติ ล่าสุดมีหุ้นกู้เหลืออยู่ 1.85 แสนล้านบาท ปีนี้ครบกำหนดกว่า 1 หมื่นล้านบาท
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เปิดเผยว่า บริษัทจะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือ ไฮบริดบอนด์ ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2560 คาดว่าจะเปิดจองซื้อวันที่ 7-9 สิงหาคม 2560 สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ชุด CPALL 178A และหรือ CPALL248A ส่วนนักลงทุนสถาบันและหรือนักลงทุนทั่วไป เปิดจองซื้อวันที่ 16-18 และ 21 สิงหาคม 2560
สำหรับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ในปีที่ 1-5 บริษัทจ่ายอัตราดอกเบี้ย 5% ปีที่ 6-10 จ่ายอัตราดอกเบี้ย 5.5% โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และมีการปรับดอกเบี้ยทุกๆ 5 ปี แต่หากเลื่อนชำระดอกเบี้ยและไถ่ถอนก่อนครบกำหนด อัตราผลตอบแทนในปีที่ 5 จะอยู่ที่ 4.56% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้อยู่ที่ระดับ BBB และอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ระดับ A โดยบริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ (ประเทศไทย)ฯ
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ที่จะได้สิทธิซื้อไฮบริดบอนด์ ก่อนได้แก่ CPALL 178A มีมูลค่า 1,772.90 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3.71% จะครบอายุในวันที่ 22 สิงหาคม 2560 และ CPALL 248A มูลค่า 6,212 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.05% จะครบอายุวันที่ 22 สิงหาคม 2567
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานว่า CPALL มีหุ้นกู้ทั้งหมด 43 ชุด มูลค่ารวมทั้งสิ้น 211,077.99 ล้านบาท ระหว่างทางมีครบอายุบ้าง ปัจจุบัน คงเหลือ 38 ชุด มูลค่า 185,650.69 ล้านบาท ช่วงที่เหลือของปีนี้ จะครบอายุ 3 ชุดรวม 11,350.89 ล้านบาท และปีหน้าครบ 3 รุ่น รวม 14,747 ล้านบาท
ที่ผ่านมา หุ้นกู้ของ CPALL มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยไม่สูงนัก เนื่องจากบริษัทและหุ้นกู้มีอันดับเครดิตที่ดี เช่น หุ้นกู้อายุ 12 ปี จะครบกำหนดในปี 2571 จ่ายดอกเบี้ย 4% ต่อปี หุ้นกู้ 10 ปี ดอกเบี้ย 5.35% ต่อปี หุ้นกู้ 7 ปี ที่จะครบปี 2563 อัตราดอกเบี้ย 5.10% และมีหุ้นกู้อายุ 5 ปี หลายชุด จ่ายอัตราดอกเบี้ย 4.70% ต่อปี
ส่วนตั๋วเงินระยะสั้น เมื่อกลางปีนี้ บริษัทมียอดคงค้าง 2,100 ล้านบาท และในเดือนกรกฎาคมมีการไถ่ถอนทั้งหมด แหล่งข่าวจากวงการตราสารหนี้ กล่าวว่า CPALL เลือกออกไฮบริดบอนด์ โดยยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป แลกกับข้อดีทางบัญชีคือ เม็ดเงินที่ระดมทุนได้ สามารถนับเป็นส่วนของทุนได้ 50% และอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายก็ยังสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการชำระภาษีได้ด้วย แต่ทางด้านเครดิตถือว่า ไฮบริดเป็นหนี้ทั้งหมด
ส่วนผู้ลงทุน ในไฮบริดบอนด์ ก็จะต้องพิจารณาให้ดี เพราะบริษัทสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยออกไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ผิดเงื่อนไข คำแนะนำจึงควรจะเลือกลงทุนกับบริษัทที่มีเครดิตที่ดี เพราะคงไม่เลื่อนการชำระดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้เสียชื่อเสียง
“ไฮบริดบอนด์ เป็นทุนครึ่งหนึ่ง ช่วยลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนลงและบริษัทยังสามารถไถ่ถอนได้ หลังออกมาอย่างน้อย 5 ปี เมื่อเห็นว่าดอกเบี้ยถูกลง แต่บริษัทจะต้องออกไฮบริดบอนด์ตัวใหม่มาแทน เพื่อไม่ให้ส่วนของทุนลดฮวบ” แหล่งข่าวกล่าว
ที่ผ่านมา บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์ เฟค จำกัด (มหาชน) เคยออกไฮบริดบอนด์
ด้าน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 1,548,588,386 หุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม 5 ต่อ 1 ในราคาหุ้นละ 25 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 38,714 ล้านบาท เปิดจองวันที่ 24 -31 กรกฎาคม 2560
มาร์เก็ตติ้งกล่าวว่า จะต้องติดตามว่า CPF จะเพิ่มทุนได้สำเร็จหรือไม่ เนื่องจากขายสูงกว่าตลาดและราคาหุ้นอยู่ในช่วงขาลง ล่าสุด C.P.Pokphand Co.,Ltd. (CPP) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) ได้เปิดเผยคำเตือนเกี่ยวกับกำไร ตามหลักเกณฑ์ของตลาด ฮ่องกง ว่า ผลงาน 6 เดือนแรกส่วนของ ผู้ถือหุ้นขาดทุนสูงสุดเป็นประวัติ การณ์ประมาณ 340-680 ล้านบาท จากที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีกำไรรวมประมาณ 5,200 ล้านบาท หลังปรับลดมูลค่าที่เป็นธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพลงตามราคาหมูในเวียดนามทั้งนี้ CPF ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมใน CPP สัดส่วน 50.43%
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560