จากแนวคิดของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่ต้องการขับเคลื่อนระบบการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งในส่วนของระบบการจัดการทรัพยากรและชุมชน ด้วยการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์ เพื่อการออมและการสร้างมูลค่าของเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของมติครม.สัญจร ที่จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 58 ชนิดเป็นหลักประกันทางธุรกิจ
แนวคิดดังกล่าว ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่การส่งเสริมการปลูกไม้ทางเศรษฐกิจและนำมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อดำเนินการมาหลายสิบปีผ่านโครงการธนาคารต้นไม้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จนล่าสุดมีสมาชิก 6,804 ชุมชน ต้นไม้ในโครงการมากกว่า 11.7 ล้านต้น
[caption id="attachment_303322" align="aligncenter" width="335"]
อภิรมย์ สุขประเสริฐ[/caption]
“อภิรมย์ สุขประเสริฐ” ผู้จัดการ ธ.ก.ส.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกษตรกรที่มีต้นไม้ 58 ชนิดและปลูกในพื้นที่ตัวเองและต้องการสินเชื่อแต่ยังขาดหลักประกัน เพราะสามารถใช้ต้นไม้มาเป็นหลักประกันเพิ่มเติมจากมูลค่าที่ดินได้ ซึ่งก่อนที่จะมีมติครม.ออกมา ธนาคารนำร่องให้เกษตรกรในโครงการธนาคารต้นไม้สามารถใช้ต้นไม้ที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป มาเป็นหลักประกันในการกู้เงินได้อยู่แล้ว โดยนำบัญชีต้นไม้ประจำตัวมาประกอบกับใช้บุคคลคํ้าประกัน เพื่อให้สามารถขยายวงเงินกู้ได้จำนวนหนึ่งและให้ชุมชนตรวจสอบซึ่งกันและกัน ถ้าเขาไม่สามารถชำระหนี้ได้ ชุมชนจะเป็นคนเอาสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่ชุมชนสาธารณประโยชน์คืน
“เราทดลองปล่อยสินเชื่อไป แต่ก็ทำได้แค่ 2-3 ชุมชนเท่านั้น เพราะการใช้บุคคลคํ้าประกัน จะมีข้อจำกัดเรื่องวงเงิน แต่พอมีกฎกระทรวงออกมาก็จะชัดเจนขึ้น โดยที่เราจะใช้เกณฑ์การวัดมูลค่าต้นไม้แต่ละชนิดใน 4 กลุ่มหลักที่ใช้องค์ความรู้ จากที่ทำงานร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาประเมิน เพื่อดูว่า ในแต่ละกลุ่มประเมินมูลค่าออกมาเป็นเท่าไหร่ และใช้เป็นหลักประกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ และจะทำเรื่องขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารให้ใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันได้ ซึ่งจะทำให้หลักเกณฑ์ชัดเจนมากขึ้น โดยจะเริ่มจากเกษตรกรในโครงการธนาคารต้นไม้ก่อน เพราะมีคณะกรรมการธนาคารต้นไม้ ที่มีการควบคุมดูแลต้นไม้ให้คงอยู่และในระหว่างคํ้าประกันต้องมีการตรวจต้นไม้ทุกปี”
การตีมูลค่าต้นไม้ แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักคือ 1.ต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วถึงปานกลาง รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ตํ่าเช่น มะม่วงป่า จามจุรี 2. ต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น กระท้อน กระบาก สมอไทย สมอพิเภก
3. ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง เช่น ไม้สัก มะปิน และ 4. ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก ซึ่งกลุ่มนี้จะมีมูลค่าสูงสุด อย่าง พะยูง ชิงชัน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะดู อายุ ทรงพุ่ม เส้นรอบวง แล้วมาตีเป็นมูลค่าออกมา
ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ ทำได้ทั้งที่ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ตัวเองและร่วมปลูกในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ จากนั้นธนาคารจะออกโฉนดต้นไม้ให้ โดยสมาชิกสามารถใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนได้ แต่ห้ามตัด เพราะวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการให้เกษตรกรดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน แต่ภายหลังได้ขยายความช่วยเหลือ โดยการรับซื้อคาร์บอน เครดิตในราคาต้นละ 3 บาทต่อปีทั้ง 11.7 ล้านต้น ใน 6 พันชุมชน แต่เป็นภาคสมัครใจ เพราะการวัดคาร์บอนเครดิต ยังไม่ใช่มาตรฐานทีเวิลด์ แต่เกษตรกรต้องวัดขนาดต้นไม้ ดูแลต้นไม้ตามมาตรฐานที่องค์กรลดก๊าซเรือนกระจกกำหนดด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)อยู่ระหว่างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ธนาคาร ต้นไม้ เพื่อให้เป็นนิติบุคคลชัดเจน เพื่อให้สามารถออกพันธบัตรระดมทุน มาสร้างป่าเพิ่มเติมและดึงให้คนในเมือง หรือภาคอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มาซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยกับระดับคาร์บอนที่ปล่อยออกไปแทนที่จะไปซื้อในต่างประเทศได้ด้วย
หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,389 วันที่ 5 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561