สัมภาษณ์
ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการ Cloud Computing คือ ผู้ให้บริการระบบประมวลผล Big Data และ AI อยู่หลายราย อาทิ กูเกิล, อเมซอน, ไมโครซอฟท์ ฯลฯ มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 30,000-40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรายใหญ่ๆ ระดับ Top 500 ของโลก จะมีกำลังการประมวลผล 715.6เทราฟล็อปส์ (Teraflops) หรือ 7 แสนกิกะฟล็อปส์ ขึ้นไป
บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ของโลกกว่า 80% มีระบบประมวลผลที่ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ไว้ใช้เอง เพื่อวิจัยและผลิตยา ขณะที่ระบบประมวลผลใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ คือ เหมืองขุดบิตคอยน์ ที่ใช้กำลังประมวลผลในการขุดบิตคอยน์ (BTC)
นายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิค และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เศรษฐี พีทีอี แอลทีดี ประเทศสิงคโปร์ ผู้ประกอบธุรกิจเติมเงินดิจิตอลในประเทศสิงคโปร์ และผู้ดำเนินโครงการนาที “NATEE” ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการนาทีเป็นโครงการของบริษัท ที่เชื่อมโยงพลังประมวลผลจากเครื่องโทรศัพท์มือถือหลายๆ เครื่อง มารวมกันเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีกำลังประมวลผลสูง สามารถใช้ในการวิจัยทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์
[caption id="attachment_345129" align="aligncenter" width="337"]
สำเร็จ วจนะเสถียร[/caption]
“ปัจจุบันผู้ให้บริการระบบประมวลผลจะมีฮาร์ดแวร์เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ หรือการเชื่อมโยงเครือข่ายประมวลผลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่โครงการ “NATEE” เป็นการเชื่อมโยงพลังประมวลผลของเครื่องโทรศัพท์มือถือ โดยที่เราสามารถดึงพลัง ประมวลผลมาใช้ได้ ในขณะที่เครื่องโทรศัพท์ยังไม่ปิดการใช้งานแอพพลิเคชัน แต่จะไม่ได้ใช้พลังงานของเครื่องมากเกินกว่าการใช้พลังงานขั้นตํ่าของเครื่องที่ต้องใช้แบตเตอรี่เพื่อเลี้ยง CPU อยู่แล้วในช่วง Idle Stage”
นายสำเร็จกล่าวว่า การเข้าถึงเครื่องโทรศัพท์มือถือและดึงพลังประมวลผลมาใช้ เป็นหลักการเดียวกับ Ad Network แต่แตกต่างกันที่ระบบ Ad Network จะยิงโฆษณาเข้าสู่เครื่องโทรศัพท์มือถือที่ผู้ใช้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันใช้ฟรีที่มีโฆษณา ปัจจุบันมีผู้ให้บริการรายใหญ่อย่างกูเกิล และเฟซ บุ๊ก ใช้เพื่อยิงโฆษณาผ่านแอพพลิเคชันต่างๆ
“ระบบของเราไม่ได้ยิงโฆษณา แต่ใช้พลังประมวลผลในขณะที่เครื่อง Stand by อยู่ ทำให้ไม่ได้กินไฟมากขึ้น โดย ปัจจุบันเรา Plug-in กับผู้ผลิตแอพพลิเคชันเพื่อเข้าถึงผู้ใช้แล้วกว่า 8 แสนดาวน์โหลด มีพลังประมวลผล 344.75 เทราเฮิรตซ์เทียบเท่ากับ 104.07 เทราฟล็อปส์ (Teraflops)”
ทางมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้ให้การยอมรับโครงการ “NATEE” ว่าสามารถใช้กำลังประมวลผลที่สนับสนุนงานวิจัยได้ และได้รับเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ Start Up ของ NUS และอยู่ระหว่างหาผู้ร่วมลงทุน เพื่อพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ต่อไป
บริษัทยังมีแผนระดมเงินทุนด้วยการออกขาย ICO ตามเกณฑ์กำกับดูแลของสิงคโปร์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ มูลค่าระดมทุนขั้นตํ่า (Soft Cap) 5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 125 ล้านบาท) ขั้นสูง(Hard Cap) 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 750 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการพัฒนาระบบ NATEE ในด้านของ พลังงานประมวลผล (CPU/GPU) และการใช้ทรัพยากรพื้นที่บนมือถือ และทั้งยังใช้สนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลจิคอล (NTU) ประเทศสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยจะออกเป็นยูติลิตีโทเคน (Utility Token) ผู้ถือโทเคนจะสามารถนำมาใช้ซื้อกำลังการประมวลผล ใช้บริการ Cloud Computing ได้
“ในระยะยาว บริษัทมีแผนจะขยายการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตแอพพลิเคชัน เพื่อเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากขึ้น ซึ่งทำให้กำลังการประมวลผลเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบัน รองรับการเติบโตต่อไปในอนาคต ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.natee.io”
หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,417 วันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2561