วิริยะประกันภัย เฟ้นหาพันธมิตร เตรียมลุยประกันสุขภาพเต็มสูบ ทั้งเป้าเบี้ยโต 2 เท่า ไม่หวั่นอัตราการเคลมแบบกลุ่ม-รายบุคคลทะลุ 90% รับขาดทุนเป็นเรื่องปกติ เหตุฐานลูกค้าไม่เยอะ ด้าน “ทีคิวเอ็ม” อาศัยจุดแข็ง ช่องทางจำหน่ายหลากหลาย รุกตลาดสุขภาพมากขึ้น เหตุเบี้ยน้อยมาก มีโอกาสเติบโตสูง
ความต้องการความคุ้มครองด้านสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามกำลังซื้อของชนชั้นกลาง ส่วนหนึ่งเพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ตลาดประกันสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตไม่หยุดและบริษัทประกันภัยหันมาแข่งขันช่วงชิงตลาดประกันสุขภาพกันมากขึ้น
นายเกรียงศักดิ์ โพธิเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ บริษัทจะเน้นการเติบโตในกลุ่มประกันสุขภาพมากขึ้น โดยตั้งเป้าเบี้ยประกันเพิ่ม 2 เท่าจากปีก่อนมีเบี้ยรับรวม 200 ล้านบาทหรือเพิ่มเป็น 400 ล้านบาท เพราะบริษัทเพิ่งเริ่มทำมาได้ 1 ปี ฐานจึงตํ่าทำให้อัตราเติบโตค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดที่จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10-15%
ทั้งนี้บริษัทมีฐานลูกค้าอยู่ที่กว่า 2 หมื่นราย ทั้งลูกค้าประกันกลุ่มและ รายบุคคล ซึ่งปีนี้จะเน้นการเติบโตในกลุ่มรายบุคคลมากขึ้น โดยจะขยายความร่วมมือผ่านพันธมิตร(Partnership) ทั้งในส่วนของสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ได้มีธุรกิจประกันหรือมีสินค้าประกัน เนื่องจากมองว่าช่องทางธนาคารยังเป็นช่องทางหลักรวมถึงขยายความร่วมมือกับบริษัทโบรกเกอร์ ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมมือกับธนาคารทิสโก้ จำกัด(มหาชน)ในการขายประกันสุขภาพ และอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรรายอื่นๆ
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า การทำประกันสุขภาพช่วงแรกๆ อัตราความเสียหายและค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio)จะค่อนข้างสูง เฉลี่ยประกันกลุ่มจะสูงถึง 90-95% เช่นเดียวกับประกันรายบุคคลที่อัตราเคลมสูงมาก และปริ่มขาดทุน ซึ่งหากไม่ต้องการขาดทุนหรือเคลมสูง อย่างน้อยจะต้องมีเบี้ยอยู่ที่ระดับ 1,500 ล้านบาทขึ้นไป จึงเป็นขนาดที่เหมาะสมรวมถึงจะต้องให้ลูกค้าอยู่กับบริษัทแบบยั่งยืนอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป ปัจจุบันอัตราการต่อกรมธรรม์บริษัทอยู่ที่ 80-85%
ด้านนายอัญชลิน พรรณนิภา ประธาน บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัดกล่าวว่า ตลาดประกันสุขภาพของไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น เนื่องจากคนไทยหันมารักษาสุขภาพมากขึ้น แต่ถ้าเทียบกับเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินและวินาศภัยถือว่ายังน้อยมาก เพราะเบี้ยดังกล่าวเติบโตมากกว่า 2-3 เท่า และหากเทียบกับต่างประเทศถือว่ายังน้อยมาก โดยหากดูข้อมูลเบี้ยประกันภัยรวมของไทยอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท ขณะที่เบี้ยในต่างประเทศเติบโต 10 เท่าหรือ มีเบี้ยราว 8 ล้านล้านบาท เฉลี่ยมีเบี้ยประกันสุขภาพ 300 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ไทยจึงมีโอกาสเติบโตอีกมากด้านประกันสุขภาพ
ดังนั้นจากจุดแข็งของบริษัทที่มีช่องทางจำหน่ายหลากหลาย ทั้งสาขาที่มีกว่า 96 แห่งทั่วประเทศ ช่องทางออนไลน์ และเทเลเซล โดยมีพนักงานกว่า 4,000 คน ซึ่งจำนวนดังกล่าวกว่า 1,000 คน สามารถขายผลิตภัณฑ์แบบ Face to Face ให้กับลูกค้าช่องทางออฟไลน์ได้
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3455 ระหว่างวันที่ 24 - 27 มีนาคม 2562