สัมภาษณ์
ถ้าพูดถึงวีรันดา รีสอร์ท สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเท่ๆ คูลๆแล้วละก็ คงจะนึกออกทันทีว่า เป็นรีสอร์ต ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการพักผ่อนที่ใกล้ชิดธรรมชาติ “วีรันดา รีสอร์ท หัวหิน” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจของครอบครัว “องค์วาสิฏฐ์” จึงเป็นแบรนด์รีสอร์ตสัญชาติไทยที่ได้รับการยอมรับทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ และถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกของนิยาม “ดีไซน์ โฮเต็ล” ในประเทศไทย
ผ่านมา 15 ปี พร้อมกับโครงการที่มีในมือ 5 โครงการ วันนี้วีรันดา รีสอร์ทพร้อมที่จะให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วมเป็นเจ้าของโครงการผ่านการเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอ ในจำนวน 75 ล้านหุ้น เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
นายวีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเราเคยมองเรื่องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มานานแล้ว แต่แรกๆ มีโครงการแค่ 1-2 ตัว เล็กเกินไป แต่พอมี 3-4 ตัว ก็เจอเหตุบ้านการเมืองเข้ามาเยอะ จึงต้องรอ ซึ่งช่วงนี้ถือว่าเหตุการณ์สงบลง ประกอบกับได้ทดลองโมเดลธุรกิจใหม่คือ มีเรสิเดนซ์ควบคู่รีสอร์ตและโรงแรมในบางพื้นที่ ซึ่งพิสูจน์ว่าเราทำได้จริง ไม่ใช่ว่าไปทำโครงการแรกแล้วเข้าตลาดเลย แล้วเกิดคำถามว่า จะทำได้จริงหรือไม่ เราพิสูจน์อันหนึ่งแล้วว่า ปีที่แล้วในส่วนของพัทยาโอนได้เกือบหมด และปีนี้ขายที่หัวหินไปได้เยอะแล้ว เรียกว่า ครบหลายๆอย่างที่อยากทำ ขณะเดียวกันไม่มีธุรกิจโรงแรมที่เป็นแบรนด์คนไทยเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯมานานแล้ว
วีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์
นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของแหล่งเงินด้วย เพราะที่ผ่านมา แหล่งเงินจะมาจากเงินทุนครอบครัวส่วนหนึ่งและเงินกู้ส่วนหนึ่ง พอหลังๆที่โครงการใหญ่ขึ้นก็จะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมด้วยในแต่ละโครงการ ทำให้ขยายโครงการได้ช้า 1 โครงการใช้เวลาถึง 3 ปี ทั้งที่มีโอกาสดีในหลายพื้นที่เข้ามา แต่ไม่สามารถรับได้จากข้อจำกัดของเงินทุนที่มี จึงต้องเลือกในพื้นที่ที่คิดว่าดีที่สุด แต่เราเชื่อว่า ถ้าเข้าตลาดได้น่าจะเร็วกว่านี้ถ้ามีทุนพอ จะได้ไม่ต้องไปร่วมทุนอะไรมากด้วย เห็นโอกาสก็น่าจะดำเนินการได้เลย เป็นไปได้ก็อยากให้ปีละ 1 โครงการ
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปชำระคืนเงินกู้บางส่วน เพราะเริ่มเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ตั้งแต่เริ่มยื่นเข้าตลาดแล้วว่า ธนาคารจะลดดอก เบี้ยเงินกู้ให้นับตั้งแต่วันที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะทำให้ประหยัดต้นทุนเงินกู้ดอกเบี้ยลงได้ไม่น่าจะตํ่ากว่า 1% ซึ่งใครยอมช่วยลดดอกเบี้ยได้ก็จะเก็บเงินทุนส่วนหนึ่งไว้หมุนเวียน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งน่าจะรองรับได้ 1-2 ปี
สำหรับการขายไอพีโอครั้งนี้ บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 244.7 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้(พาร์)หุ้นละ 5 บาท เป็น 319.7 ล้านหุ้น โดยเสนอขายหุ้นไอพีโอ 75 ล้านหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไป โดยจะเน้นให้กับนักลงทุนสถาบันมากกว่ารายย่อย เพราะต้องการถือลงทุนยาว เพราะการท่องเที่ยวเป็นเรื่องฤดูกาลด้วย
สำหรับแผนในระยะ 3-5 ปีจากนี้ ในส่วนของรีสอร์ตกับโรงแรมเชื่อว่า ยังมีหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้ไป เช่น ภูเก็ต กระบี่ และในประเทศก็ยังมีหลายจุดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และส่วนที่ 2 คือถ้าไปแล้ว ตลาดตรงนั้นมีตลาดของที่พักอาศัย คือพื้นที่ใหญ่พอก็จะมีเรื่องของเรสิเดนซ์ด้วย เพราะสามารถใช้แบรนด์เราได้ และเรสิเดนซ์จะทำให้คืนทุนเร็วขึ้นด้วย เพราะขายแล้วได้เงินคืนมาเลย ส่วนที่ 3 จะเริ่มขยายไปยังร้านอาหารเครื่องดื่มบ้าง ซึ่งเดิมเริ่มจากนำเชฟจากโรงแรมไปช่วยออกแบบอาหาร อย่างร้าน Skoop Beach Cafe และร้านเครื่องดื่ม KOF ซึ่งหลักๆจะยังอยู่ในพื้นที่รีสอร์ต แต่พอทำได้ดี เริ่มที่จะแยกออกไปทำต่างหาก เพราะเป็นที่รู้จักแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นรายได้เข้ามาเสริมส่วนหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่มาก เพราะเป็นช่วงเริ่มต้น
หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,463 วันที่ 21-24 เมษายน 2562