เคทีซีส่ง 2 บริษัท-รับหนี้นอกระบบ

09 มิ.ย. 2562 | 05:51 น.

บริษัทบัตรกรุงไทยชูจุดแข็งคุมคุณภาพสินเชื่อ-สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ 40% และติดตามทวงถามมีประสิทธิภาพ เตรียมส่ง 2 บริษัทรับหนี้นอกระบบ  ด้านวินเฟอร์ฟอร์มานซ์ เผย 5 เดือนเรียกคืนหนี้สูงกว่าปีก่อน เหตุติดต่อลูกค้าตั้งแต่วันแรกที่ค้างชำระ-แจงหากเกิน 90 วันมีโอกาสลูกหนี้ล่องหน

 

นายชุติเดช  ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างขออนุญาตกระทรวงการคลังเพื่อทำธุรกิจใหม่ โดยได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้ง 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทเคทีซี พิโก (กรุงเทพ) จำกัด  กับ บริษัท เคทีซี นาโน จำกัด โดยเคทีซีถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 75.05% ที่เหลือธนาคารกรุงไทยถือ 24.95% ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำธุรกิจใหม่ทั้ง นาโนไฟแนนซ์  พิโกไฟแนนซ์และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยธุรกิจปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เน้นอำนวยสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดสำหรับบุคคลธรรมดาใช้เป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันก็ได้ ภายใต้บริษัทเคทีซี พิโก (กรุงเทพ) จำกัด และในอนาคตบริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพ) จะเป็นโฮลดิ้งคอมปานีถือหุ้น 100%ในบริษัทพิโกไฟแนนซ์แต่ละจังหวัดอื่น ภายหลังเริ่มทำธุรกิจในกรุงเทพก่อน

เราตั้งใจจะทำ 3 ธุรกิจพร้อมกันเพื่อดูแลกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบหรือเคยกู้หนี้นอกระบบราว 5% จากหนี้ครัวเรือนคงค้างกว่า 12.83 ล้านล้านบาทตกประมาณ 6.4 แสนล้านบาท หรือข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการรัฐกว่า 13 ล้านคนยังพบว่าเฉลี่ยแต่ละคนเป็นหนี้นอกระบบ 6.5หมื่นบาท จะได้กลับเข้าสู่ระบบซึ่งจะได้รับความเป็นธรรมทั้งดอกเบี้ยอัตรา และการนับวันที่ชัดเจน เงื่อนไขเป็นมาตรฐาน หลักฐานการจ่ายเงิน เช่นเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยใช้ดอกเบี้ยที่จ่ายขอคืนภาษีได้ด้วย”

เคทีซีส่ง 2 บริษัท-รับหนี้นอกระบบ

ด้านคุณภาพสินเชื่อนั้น ด้วยจุดแข็งของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพหนี้เอ็นพีแอลทั้งกระบวนการพิจารณาอนุมัติ (สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR ประมาณ 40%) และการติดตามทวงถามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ  เห็นได้จากไตรมาสแรกที่ผ่านมาเคทีซีมียอดสินเชื่อสุทธิรวม จำนวน 6.98 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตสัดส่วน 65% หรือจำนวน 4.53 หมื่นล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลสุทธิ 2.43 หมื่นล้านบาท โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเอ็นพีแอลต่อพอร์ตรวมอยู่ที่ 1.18% ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1.34% แบ่งเป็นเอ็นพีแอลของบัตรเครดิต 1.04% ลดลงจาก 1.14% และต่ำกว่าระบบที่มีค่าเท่ากับ 2.02% และเอ็นพีแอลพอร์ตสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.78% ลดลงจาก 0.82 ซึ่งต่ำกว่าระบบที่มีค่าเท่ากับ 3.49%  ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทจะมีการตัดหนี้สูญสัดส่วนเอ็นพีแอลลดลงแต่สัดส่วนของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเอ็นพีแอลยังคงมูลค่าสูงอยู่ที่ 605% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 591%

สำหรับปี 2562 บริษัทตั้งเป้ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 15% ที่ผ่านมาไตรมาสแรกขยายตัวได้แล้ว 10% และเป้าขยายพอร์ตลูกหนี้ประมาณ 10% ซึ่งคืบหน้าเข้ามาแล้ว 7% ขณะที่สัดส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.2% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ให้อยู่ที่ 1.1%

เคทีซีส่ง 2 บริษัท-รับหนี้นอกระบบ

นายพรเลิศ เบญจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทวินเพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการติดตามหนี้และด้านกฎหมายของเคทีซี กล่าวว่า 5 เดือนที่ผ่านมาการติดตามทวงหนี้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากหลายปัจจัย เช่น การติดตามลูกค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ค้างชำระวันแรก (Day 1) และใช้เทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าก่อนปรับปรุงวิธีการติดตามทวงถาม ปัจจุบันพนักงาน 1 คนดูแลลูกหนี้ 2,000 คน โดยกระบวนการติดตามทวงถามนั้นจะแบ่งลูกหนี้เป็นพอร์ต (ตะกร้า) เช่น ค้างชำระตั้งแต่ 1-30วัน และค้างชำระตั้งแต่ 30-90 วันซึ่งค้างชำระ 1-30 วันมีสัดส่วนประมาณ 2-3% เนื่องจากไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ หรือลืม/จำวันชำระคลาดเคลื่อน ซึ่งกลุ่มแรกจะใช้คนเพียง 70 คนจากทีมงานที่มีอยู่ 200 คน และภายหลังการติดตามพบลูกค้ากลับมาชำระดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

เคทีซีส่ง 2 บริษัท-รับหนี้นอกระบบ

เราเน้นใช้ข้อมูลศึกษาพฤติกรรมลูกหนี้แล้วปรับวิธีติดตาม เพราะลูกหนี้บางรายไม่ยอมรับโทรศัพท บ้างหายหน้าไป เท่าที่พบรายที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไปคือเป็นหนี้เอ็นพีแอลแล้วประมาณ 50%ลูกหนี้ไม่กล้าติดต่อกับบริษัท ฉะนั้นจะต้องเริ่มเข้าถึงลูกหนี้ให้เร็วตั้งแต่ค้างวันแรก โดยมีระยะเวลาทวงถามเพียง 3 เดือนหลังจากนั้นจะส่งกลับให้ทางเคทีซีดำเนินการทางกฎหมาย และเรายังมีทีมงานเพียงพอที่จะรับงานจาก 3 ธุรกิจใหม่ของเคทีซี”

เคทีซีส่ง 2 บริษัท-รับหนี้นอกระบบ