สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพยืและตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้ออกบทความเรื่อง “Libra”– จับตา“ก้าวที่กล้า” ของ Facebook” โดยนายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. และทีมโฆษก ก.ล.ต. โดยมีใจความว่า ต้องเรียกว่า Libra เป็น “ก้าวที่กล้า” ของ Facebook และพันธมิตรในการพยายามนำคริปโทฯ ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เป็นระบบชำระเงินหลักของคนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงผู้คนที่เดิมไม่มีบัญชีธนาคาร / ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ โดยจะมีต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ต่ำมาก และสามารถทำธุรกรรมต่างๆ แม้กระทั่งธุรกรรมระหว่างประเทศได้ด้วยความรวดเร็ว โดยหลักการแล้ว หากเรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริง โดยมีการจัดการข้อกังวล / ความเสี่ยงต่าง ๆ และมีการกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสม (ขอเน้นตรงนี้หนัก ๆ อีกครั้งนะครับ) ก็คงจะเป็นประโยชน์และช่วยพลิกโฉมการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งทำให้เกิดรูปแบบการทำธุรกิจและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีนี้ได้ไม่น้อยเลยครับ
ที่ผ่านมา หนึ่งในข้อจำกัดของคริปโทฯ อย่าง Bitcoin ที่ทำให้ยังไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้ในชีวิตประจำวันแบบวงกว้างเท่าเงินตราที่เราคุ้นเคยกันก็คือ มูลค่าที่ค่อนข้างผันผวน ในประเด็นนี้ Libra ได้พยายามสร้างกลไกมาจัดการด้วยการมีตะกร้าของเงินฝากและหลักทรัพย์ระยะสั้นที่ออก โดยรัฐบาลสำรองไว้เต็มจำนวนสำหรับทุก ๆ 1 Libra ที่สร้างขึ้นมา หรืออาจเรียกได้ว่า Libra เป็น “stable coin” นั่นเองครับ (หมายถึงคริปโทฯ ที่มีมูลค่าตามสินทรัพย์ที่อ้างอิง)
ขณะเดียวกัน Facebook ก็จะตั้งอีก 1 บริษัทที่ชื่อ “Calibra” เพื่อเป็นผู้ให้บริการ wallet สำหรับผู้ประสงค์จะใช้ Libra ซึ่งนอกจากการใช้จ่ายผ่าน app ของ Calibra แล้ว ได้ยินว่า Libra ยังจะไปผูกกับ messaging apps ที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลกอย่าง Facebook Messenger และ Whatsapp อีกด้วย เรียกได้ว่า Facebook พยายามทำให้ใช้ Libra ทำธุรกรรมได้สะดวกเหมือนเราส่งข้อความหากันตอนนี้ เลยทีเดียวครับ
อ่านมาถึงตรงนี้ หากทุกท่านลองนึกภาพตามที่ผมเล่าคร่าว ๆ ข้างต้น คงพอเห็นทั้งความเป็นไปได้และผลกระทบที่กว้างไกลของสิ่งที่ Facebook กำลังเสนอแล้วใช่ไหมครับ และคงพอเริ่มนึกออกแล้วด้วยว่าทำไมหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกถึงจับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้นจากโหมดประชาชนผู้ใช้บริการ ผมขอชวนทุกท่านลองเปลี่ยนมาสวมหมวกหน่วยงานกำกับดูแลกันสักครู่ครับ
ต้องยอมรับว่าคริปโทฯ รวมทั้ง stable coin อย่าง Libra เป็นความท้าทายของระบบการกำกับดูแลทั่วโลกเลยทีเดียวครับ ตั้งแต่ความสามารถของหน่วยงานกำกับดูแลในการติดตามตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ที่ผู้คนทำระหว่างกันเองโดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือหรือจุดเกาะเกี่ยวสำคัญที่หน่วยงานกำกับดูแลใช้เป็นหลักมาถึงปัจจุบัน แถมธุรกรรมยังเป็นแบบไร้พรมแดน ก็จะมีประเด็นเรื่องอำนาจในการกำกับดูแลและกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งอาจไม่เท่าเทียมและไม่สอดคล้องกันเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง แถมเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ที่มีพัฒนาการรวดเร็ว ผู้กำกับดูแลเองก็อาจยังไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอหรือเท่าทันกับพัฒนาการเหล่านี้ รวมทั้งยังไม่มีมาตรฐานสากลหรือแนวปฏิบัติที่ดีให้ยึดเป็นหลักได้อีก ขณะเดียวกัน ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลเพิกเฉย ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปโดยไม่วางแนวทางจัดการข้อกังวลและความเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งหาวิธีใช้บังคับกฎหมายกฎเกณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คงไม่สามารถเรียกได้ว่า หน่วยงานนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่แล้ว และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลยครับหากเกิดปัญหาที่กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจหรือประชาชนในวงกว้าง
อ่านแล้วทุกท่านเริ่มเห็นความกังวลและความท้าทายที่หน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ เผชิญอยู่ รวมทั้งเห็นความจำเป็นที่ทำให้หลาย ๆ หน่วยงานมีท่าทีระมัดระวังและติดตามพัฒนาการในประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดหรือยังครับ
สำหรับประเทศไทย เรามีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่เป็นกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลในเรื่องนี้ โดยมี ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว จึงมีความเกี่ยวข้องกับ Libra ที่เป็นคริปโทฯ ในบางส่วน กล่าวคือ หากในอนาคตมีผู้ใดประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับ Libra ในฐานะศูนย์ซื้อขาย (exchange) นายหน้า (broker) หรือผู้ค้า (dealer) ก็ต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. ก่อนนะครับ
ทีนี้คงมีหลายท่านสงสัยว่า ในโลกไร้พรมแดน (borderless) อะไรที่เรียกว่า เป็นการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับในประเทศไทย ซึ่งขอเรียนว่า ในเรื่องนี้ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยและต้องดูข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีนะครับ แต่หลัก ๆ ก็ต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งมาดำเนินการในประเทศไทยด้วย ดังนั้น หากท่านเข้าไปในเว็บไซต์หรือสื่ออื่น ๆ เพื่ออ่านข้อมูลหรือชมคลิปที่ชักชวนให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยดำเนินการอยู่ในต่างประเทศทั้งหมด ก็ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. ที่ ก.ล.ต. ดูแลนะครับ ในบริบทของการทำธุรกรรมที่มีลักษณะข้ามพรมแดนหรือไร้พรมแดน จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสิ้น ไม่ใช่มีแต่เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ที่สำคัญ ขออนุญาตเรียนทุกท่านให้ใช้ความระมัดระวังหากมีใครชักชวนให้ท่านลงทุนโดยอ้างว่าเป็นการร่วมลงทุนใน Securities Token Offering (STO) ของ Libra Association หรือเหรียญชื่อ Libra Investment Token โดยอ้างว่าเป็นโอกาสร่วมลงทุนกับ Facebook หรือพันธมิตรต่าง ๆ นั้น ขอให้ระวังมาก ๆ นะครับ เพราะคนทั่วไปคงไม่สามารถเข้าถึงการลงทุนนี้ได้ครับ นอกจากนี้ กรณีคริปโทฯที่เป็น stable coin อาจจะมีประเด็นเกี่ยวพันกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ ด้วย ซึ่ง ก.ล.ต. จะติดตามพัฒนาการในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และได้ประสานงานกับบางหน่วยงานไว้แล้วครับ