สัมภาษณ์
ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2562 สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)กำหนดปรับลดวงเงินคุ้มครองเป็น5 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมผู้ฝากเงิน 99.6% ของผู้ฝากเงินทั้งประเทศจากปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านบาท และจากนั้นจะปรับลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท ในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป โดยครอบคลุมผู้ฝากเงิน 98.2%
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสคฝ. เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภารกิจหลัก ในวาระ 4 ปีที่ต้องดำเนินงานใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การคืนเงินให้กับผู้ฝากเงินกรณีสถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต (ธนาคารพาณิชย์ เครดิตฟองซิเอร์และบริษัทเงินทุน 35แห่ง) 2.การทำหน้าที่ชำระบัญชีโดยรวบรวมทรัพย์สินต่างๆและลูกหนี้ ที่มีอยู่ในธนาคาร เพื่อขายนำเงินที่รวบรวมได้ กระจายส่งคืนให้กับผู้ฝากหรือเจ้าหนี้ ของสถาบันการเงินแห่งนั้น
และ 3.สร้างความเข้าใจและทำให้เกิดศักยภาพทางการเงินของระบบการเงิน กระบวน การทำงาน เริ่มจาก 2 ปีแรกที่ต้องปูพื้นฐานของระบบ เพราะภารกิจเร่งด่วนของสคฝ. คือ เตรียมการจ่ายเงินคืนผู้ฝากเงิน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า สถาบันการเงินไทยจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือปิดกิจการในช่วงนี้ เพียงแต่ เป็น การวางพื้นฐานเตรียมความพร้อมที่ต้องใช้ระยะเวลาพอควร สำหรับการชำระบัญชี ทั้งเรื่องระบบ เรื่องเตรียมคนที่มีอยู่ 70 คนโดยเพิ่มทักษะ ด้านกฎหมาย ด้านบัญชี ด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และครอบคลุมถึงการประนอมเจรจาหรือขายหนี้ ทั้งนี้เป็นการเตรียมและสนับสนุนพนักงานให้สามารถทำงานใน 2 ทักษะในกรณีเกิดภาวะวิกฤติ ส่วนงานระบบเชื่อมต่อธนาคารพาณิชย์บางส่วนทำไปแล้วคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้โดยตั้งแต่ต้นปี 2563 ธนาคารพาณิชย์จะเริ่มส่งข้อมูลผู้ฝากเงินให้สคฝ.ผ่านระบบออนไลน์เพื่อสคฝ.จะนำข้อมูลไปช่วยในการชำระเงินให้กับผู้ฝากเงินแต่ละรายได้อย่างคล่องตัว
ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์
สำหรับหลักการคืนเงินนั้น กฎหมายกำหนดให้คืนเงินส่วนแรก ภายใน 30 วัน ซึ่งถ้าเจ้าของบัญชีเงินฝากมีภาระหนี้เช่น บัตรเครดิตหรือหนี้เงินกู้สคฝ.ก็จะหักกลบหนี้เงินกู้เฉพาะบัญชีที่ครบกำหนดเอาไว้ก่อนจะจ่ายคืนเงินฝากกับเจ้าของเงินฝาก หากผู้ฝากเงินมีวงเงินมากกว่าที่ได้รับส่วนแรก สคฝ.ต้องทำเรื่องชำระบัญชีซึ่งอดีตต้องใช้เวลา 5-7 ปีเพราะเป็นกระบวนการติดตามลูกหนี้ ทรัพย์สินต่างๆเพื่อขายเมื่อได้แล้วก็จะคืนเงินให้ผู้ฝากเงิน เพิ่มเติมอีกซึ่งดอกเบี้ยยังคงเดินต่อ
เช่น A มีเงินฝาก 3บัญชี และมีบัญชีฝากร่วมอีก 1บัญชี ทางสคฝ.จะรวบรวมวงเงิน 3 บัญชี ส่วนบัญชีเงินฝากร่วม หากผู้ฝากตกลงแบ่งสัดส่วนกัน 50:50 ทางสคฝ.จะแบ่งจ่ายคืนตามนั้น โดยสคฝ.จะโอนเงินจ่ายคืนผ่านพร้อมเพย์ ซึ่งมาเลเซียสนใจเรื่องพร้อมเพย์มากขึ้น ขณะที่ในยุโรปยังใช้ตัวแทนหรือเอเยนต์ในการคืนเงินให้กับผู้ฝาก
ระหว่างเทอม 4 ปีที่ดำเนินงานนั้น “นายทรงพล” ยังบอกว่า นอกจากศึกษาเรื่องการชำระบัญชี เรื่องพัฒนาคนแล้วจะพยายามเพิ่มทางเลือกหรือขยายความคุ้มครองไปในผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก เช่น กระเป๋าเงินอี-วอลเล็ตเพราะหากผู้ให้บริการอีมีนี่มีปัญหาจะสามารถใช้สคฝ.เป็นช่องทางในการชำระคืนเงินได้ และสิ่งที่น่าสนใจคือ เครื่องมือที่จะใช้ในความคุ้มครอง ซึ่งเป็นโมเดลใหม่เพิ่งเกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบประเทศยุโรป โดยเริ่มให้ผู้ฝากเงินมีสิทธิ์ที่จะซื้อความคุ้มครองของตัวเองเพิ่มเติมได้ โดยหารือกับสถาบันคุ้มครองเงินฝากและต้องจ่ายค่าธรรมเนียมกับบริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับความคุ้มครอง ซึ่งสคฝ.สนใจจะศึกษาเรื่องนี้เพื่อเป็นออพชันหรือเพิ่มทางเลือกให้หลากหลายกับผู้ฝากเงิน เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะซื้อทองหรือซื้อที่ดินบ้างโดยมีเงินสดเหลือฝากไม่มาก
ด้านเงินกองทุนนั้นปัจจุบันมียอดเงินเกือบ 1.26 แสนล้านบาทในหลักการบริหารเน้นความมั่นคงและมีสภาพคล่องที่ผ่านมาผลตอบแทนเฉลี่ย 2-3% ต่อปี ถามถึงความเพียงพอสำหรับจ่ายคืนนั้นควรจะมีเกือบ 3 แสนล้านบาทสำหรับรองรับกรณีธนาคารพาณิชย์โดนถอนใบอนุญาต แต่กระบวน การทำงานกฎหมายให้อำนาจ สคฝ.ในการบริหารจัดการที่สำคัญทุกธนาคารมีเงินกองทุนที่เพียงพอและแข็งแกร่ง
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,491 วันที่ 28-31 กรกฎาคม 2562