คอลัมน์ครบเครื่องเรื่องทองกับYLG
พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
เพราะเส้นอัตราผลตอบแทนจะเกิดภาวะผกผัน (inverted yield curve) ก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทุกๆ ครั้งมาตั้งแต่ปี 1955 นั้นทำให้นักลงทุนบางส่วนใช้ภาวะดังกล่าวเป็นสัญญาณว่าสภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังมาถึง และเป็นที่มาที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงอย่างมากในวันพุธที่ 14 สิงหาคม พร้อมกับหนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้น”
ความวิตกของนักลงทุนถูกกระตุ้นหลังจากเกิด“inverted yield curve” ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว และนั่นก็เป็นสัญญาณบ่งชึ้ความไม่ปกติในตลาด รวมถึงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้นี้
ตามปกติแล้วในช่วงเศรษฐกิจดี ผู้ที่ถือครองพันธบัตรระยะยาวควรจะต้องได้รับ “ผลตอบแทน” ที่สูงกว่าผู้ที่ถือครองพันธบัตรระยะสั้น นั่นเป็นเพราะว่า พันธบัตรระยะยาวมีความเสี่ยงโดยรวมมากกว่าจากระยะเวลาการถือครองพันธบัตรที่นานกว่า หากนักลงทุนนึกภาพไม่ออก อาจจะลองเทียบเคียงกับเวลาที่นักลงทุนฝากเงินในบัญชีธนาคาร หากผู้ฝากสามารถถอนเงินได้ตลอดเวลาธนาคารก็มักจะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝาก ในทางกลับกัน หากผู้ฝากฝากเงินในธนาคารเป็นเวลานานกว่านั้น ผู้ฝากก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งตลาดตราสารหนี้ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันนั่นคือ “ยิ่งให้กู้เงินนานเท่าไร ก็จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น”
สำหรับภาวะผกผันในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ inverted yield curve ที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันพุธที่ 14 สิงหาคมเกิดขึ้นระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 คำถาม คือ เหตุใดนักลงทุนจึงวิตกกับการเกิด inverted yield curve รอบนี้มากนัก นั่นก็เพราะว่า จากสถิติในอดีตพบว่า เกิดภาวะ inverted yield curve ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทุกๆ ครั้งมาตั้งแต่ปี 1955 ดังนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าการเกิด inverted yield curve ครั้งนี้จะเป็นสัญญาณเตือนว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังใกล้เข้ามา
เพื่อให้เห็นภาพชัดจึงขอพานักลงทุนย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1940 พบว่าตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมาเกิดสภาวะเศรษฐกิจทั้งหมด 12 ครั้ง ที่สำคัญคือ มีการเกิด inverted yield curve ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีก่อนที่จะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทุก 7 ครั้ง ล่าสุดนอกจากนี้ยังเกิด inverted yield curve ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีก่อนจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึง 9 ครั้งในทั้งหมด 12 ครั้ง
“แต่กระนั้น YLG ก็ไม่อยากให้นักลงทุนตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะ inverted yield จะต้องมีความต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงจะเป็นสัญญาณ “ขาลง” สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ สถิติในอดีตยังบอกอีกว่า แม้ว่าจะเกิด inverted yield curve แต่สภาวะเศรษฐกิจ ถดถอยอาจไม่เกิดขึ้นทันที”
โดย BofA พบว่า นับตั้งแต่ปี 1956 เป็นต้นมา จะใช้เวลานับจากเกิด inverted yield curve ไปจนถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย สั้นสุดคือ 8 เดือน (US recession ปี 1959) และยาวนานสุดคือ 24 เดือน (US recession ปี 1959) โดยค่าเฉลี่ยและค่ามัธยฐานจากการเกิด inverted yield curve ไปจนถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะอยู่ที่ 15.1 และ 16.3 เดือนตามลำดับ ที่เป็นสาเหตุที่ YLG แนะนำว่านักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป แต่นักลงทุนก็ควรจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมตัวปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดรับกับสถาน การณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดเวลา
ที่มาข้อมูล : Washingtonpost, Zerohedge, Bloomberg และ Bank of america merrill lynch
หน้า17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,498 วันที่ 22-24 สิงหาคม 2562