CIMB ยันเศรษฐกิจโลกยังไม่ถดถอย

30 ส.ค. 2562 | 11:15 น.

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มซีไอเอ็มบี ยันเศรษฐกิจโลก-สหรัฐฯ ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เชื่อแค่เศรษฐกิจชะลอ ลั่นดูแค่โมเดลผลตอบแทนพันธบัตรกลับข้างอย่างเดียวไม่ได้ จับตาจีนบริหารดุลบัญชีเดินสะพัด-หนี้ที่เร่งตัวก่อนกระทบไทย

               นายโดนัล ฮานนา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาค กลุ่มซีไอเอ็มบีเปิดเผยว่า ประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจโลกและสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่ภาวะถดถอย(Recession) นั้นมองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้อยู่ในภาวะชะลอตัวแต่ยังไม่ได้เป็นเศรษฐกิจถดถอย แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร(Bond Yield)ระยะยาวและสั้นจะอยู่ในแดนลบ ซึ่งเป็นการเหตุการณ์ชะลอตัวและหากดูอัตราผลตอบแทนหรือเงินปันผลของพันธบัตรระยะ 10 ปีและ 2 ปี ยังมีออกมาให้ประมาณ 1.2%

               ขณะเดียวกัน หากดูพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เลวร้าย คนยังถือครองอยู่ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนจะลดลงก็ตาม และหากดูด้านบัญชีหนี้ครัวเรือนยังไม่ได้สูง แต่อาจจะมีบางธุรกิจที่มีปัญหาบ้าง ส่วนด้านต่างประเทศอาจจะขาดดุลการค้า แต่ดุลบัญชีทางการคลังยังอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจยังคงเติบโต จึงยังไม่น่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงสูงจึงยังคงต้องติดตามข้อมูลตัวเลขและเครื่องชี้วัดต่างๆ นอกเหนือจากโมเดลของผลตอบแทนพันธบัตรอย่างเดียว

CIMB ยันเศรษฐกิจโลกยังไม่ถดถอย

ในช่วงปี 1980 ที่เกิดภาวะ Recession ลักษณะผลตอบแทนพันธบัตรก็ไม่ได้เกิดตามโมเดลที่พันธบัตรระยะยาวลดลงมาน้อยกว่าพันธบัตรระยะ 2 ปี และความเป็นไปได้ในอนาคตที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะลงมาอยู่ที่ 0% เป็น Nagative นั้น โมเดลผลตอบแทนพันธบัตรไม่สามารถวัดเป็น Recession ได้ แต่เราก็ต้องดูดาต้าอื่นๆ เช่น การลดดอกเบี้ยของเฟด จะสอดคล้องกับความคาดหวังของตลาดหรือไม่ ซึ่งมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง หรือราว 1% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า แต่ดูช่วงที่ผ่านมาเฟดจะขึ้นหรือลงดอกเบี้ยกว่าตลาดคาดหวังอยู่แล้ว

               ส่วนทิศทางเศรษฐกิจจีน แม้ว่ากราฟอัตราการเติบโตจะชะลอตัวเหลือเฉลี่ย 6-6.2% นั้น เป็นการขยายตัวที่เหนือกว่าระดับศักยภาพ ทั้งภาคการเงินและการคลัง ส่วนหนึ่งมาจากตลาดแรงงานและสินทรัพย์เริ่มลดลง โดยจีนพยายามอย่างหนักในการหันมาใช้ทรัพยากรในประเทศมากขึ้น ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จนในที่สุดกลายเป็นความเสี่ยงที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบ จากอดีตเคยอยู่ในระดับ 10% ต่อจีดีพี ปัจจุบันเหลือเพียง 1%

               นอกจากนี้ จากความพยายามลงทุนภายในประเทศอย่างหนักของจีน ส่งผลให้มีการกู้ยืมจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันสินเชื่ออยู่ที่ 15% ซึ่งเติบโตเกินกว่ารายได้ ซึ่งเป็นภาวะกดดันทางการเงิน เป็นประเด็นต้องจับตามองการบริหารจัดการอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะมีผลต่อไทยในเรื่องของการท่องเที่ยว และส่งผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยด้วย รวมถึงการจัดการเรื่องหนี้ที่เร่งก่อของจีนจะไปในทิศทางใดด้วย

ส่วนประเด็นความเสี่ยงรอบโลก จะเป็นเรื่องการแยกตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ซึ่งมองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อภูมิภาคเอเซียมากนัก เพราะเป็นปัจจัยค่อนข้างเล็ก นอกจากมีความอ่อนแอทางการเงินและลามไปสู่ยุโรป อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะทำเพื่อรองรับความเสี่ยงทั้งจากสงครามการค้า เศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหา Brexit คือ การร่วมมือในกลุ่มอาเซียนและเอเชียที่แข็งแกร่งผ่านการใช้ทรัพยากรในกลุ่มร่วมกันมากขึ้น จะสามารถรองรับปัญหาได้ดีขึ้น

               นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า   ความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เริ่มเห็นผลกระทบต่อประเทศไทยแล้ว โดยภาวะชะลอตัวจากภาคต่างประเทศเริ่มลุกลามมาในประเทศ ส่งผลให้ภาคการลงทุนเอกชนมีแนวโน้มที่จะติดลบในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะภาคการส่งออกมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง แต่จะไม่รุนแรงเท่าครึ่งแรกของปี เมื่อการส่งออกมีปัญหา จะเริ่มเห็นผู้ประกอบการปรับแผน โดยลดกำลังการผลิตลง และจะมีผลต่อการนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ เกิดภาวะ เงียบเหงา เมื่อภาคเอกชนชะลอการลงทุน จะส่งผลกระทบต่อมายังภาคการบริโภค การจ้างงานจะมีแนวโน้มลดลง ชั่วโมงการทำงานมีแนวโน้มถูกตัดมากขึ้น

CIMB ยันเศรษฐกิจโลกยังไม่ถดถอย

               อย่างไรก็ดี ธนาคารเชื่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐจะช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ย่ำแย่ไปมากกว่านี้ ผ่านการประคองการบริโภคระดับล่าง อย่างไรก็ดี มองว่านโยบายที่จะกระตุ้นภาคการลงทุนมีความจำเป็นอย่างมาก เราหวังจะได้เห็นแรงกระตุ้นภาคการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่นโยบายการเงินมีโอกาสจะได้เห็นมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม เราคาดการณ์ว่าทางการจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจ โดยลดภาระค่าใช้จ่ายภาคเอกชน อีกทั้งจะช่วยประคองผู้ส่งออก โดยกดค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงด้วย

            ภาวะสงครามการค้ามีแนวโน้มจะลากยาวไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปีหน้า และตราบใดที่ทรัมป์ยังนั่งตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ความตึงเครียดของสหรัฐและจีนยังคงมีต่อเนื่อง ดังนั้น เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าและจะลามไปถึงปี 2563”

CIMB ยันเศรษฐกิจโลกยังไม่ถดถอย