‘ทิพย’ ใส่เกียร์ ลุยปั๊มเบี้ยประกันรถ

09 ก.ย. 2562 | 08:05 น.

 

สัมภาษณ์

 

หลังจากซุ่มปรับปรุงระบบหน้าบ้านหลังบ้าน พัฒนา ระบบเทคโนโลยีให้ครอบคลุมทุกมิติของการรับสินไหม รวมถึงทดเวลาบาดเจ็บจากการขาดทุนพอร์ตประกันภัยรถยนต์ที่มีอัตราเคลมพุ่งทะลุ 70% วันนี้บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กลับมาฟิตพร้อมลงสนามแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดประกันภัยรถยนต์ ปักธงปี 2563 ขยับสัดส่วนเบี้ยประกันภัยรถยนต์ขึ้นมา 30% มีเบี้ยอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้เพราะตลาดประกันภัยรถยนต์ถือเป็นตลาดใหญ่ของเบี้ยประกันวินาศภัยและเป็นตลาดสำคัญ เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 65% ของเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งหมดที่มีอยู่ราว 2 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.2-1.3 แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 7-8 หมื่นล้านบาท มาจากธุรกิจประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non Motor) จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ธุรกิจประกันภัยรถยนต์และประกัน Non Motor สัดส่วนจะเท่าๆกัน

 

‘ทิพย’ ใส่เกียร์  ลุยปั๊มเบี้ยประกันรถ

สมพร สืบถวิลกุล 

 

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า บริษัทพร้อมมากขึ้นที่จะกลับมาทำตลาดประกันภัยรถยนต์ หลังจากได้ชะลอการเติบโตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยลดเบี้ยประกันที่มี 5,000 ล้านบาทลงมาเหลือ 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% ของพอร์ตเบี้ยประกันรับรวมปัจจุบันที่มี 2 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากอัตราความเสียหายและค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ค่อนข้างสูงกว่า 70% เพราะไม่ได้เลือกตลาด จึงเข้าทุกตลาดทั้งรถแท็กซี่ รถบรรทุก ทำให้ Loss เพิ่มขึ้นและขาดทุน

บริษัทจึงปรับลดพอร์ตลงต่อเนื่องจนปัจจุบันอัตรา Loss กลับมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 65% และกลับมาปรับปรุงพัฒนาระบบทั้งหน้าบ้านหลังบ้าน ลงระบบไอทีใหม่ พัฒนาระบบรับสินไหมในทุกมิติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้ได้พัฒนาระบบเรียบร้อยและพร้อมกับจะกลับมาทำตลาดประกันรถยนต์อีกครั้ง โดยตั้งเป้าภายในปี 2563 ต้องการเห็นสัดส่วนประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 13% มาอยู่ที่ระดับ 30% มีเบี้ยรับรวม 6,000 ล้านบาท ซึ่งยังคงติดอันดับ 1 ใน 10 ของตลาดประกันภัยรถยนต์

ส่วนกลยุทธ์การเติบโต จะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้า Value for Money แทนกลุ่มลูกค้า Price Concern เนื่องจากกลุ่มนี้จะเน้นผลิตภัณฑ์ราคาถูก จะย้ายค่ายได้ทุกเมื่อที่เจอราคาถูก ไม่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์(Loyalty) ซึ่งบริษัทเคยเข้าไปทำตลาดแล้วไม่คุ้มค่า จึงต้องศึกษาตลาดใหม่ เพราะมีทั้งข้อดีและเสียอยู่ในกลุ่มที่เข้าไป ซึ่งบริษัทมีระบบฐานข้อมูล Big Data เข้ามาช่วย โดยจะไม่ใช้ราคาในการแข่งขันดึงลูกค้า

ขณะเดียวกัน บริษัทไม่ได้ละเลยหรือทิ้งตลาดประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non Motor) เพราะ ยังเป็นตลาดสำคัญ และเป็นพื้นที่หลักที่บริษัทต้องรักษาจุดแข็งไว้ ซึ่งจะเห็นว่า เบี้ยประกันภัย Non Motor ของบริษัทอยู่ที่ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท ถือว่าค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับระบบที่มีสัดส่วนเบี้ยอยู่ที่ 35% หรือมีเบี้ยประกันที่ 7 หมื่นล้านบาท

 

ทั้งนี้ ประเมินอัตราเติบโตตลาด Non Motor ทั้งระบบปีนี้ที่ 3-5% สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะขยายตัวไม่สูง โดยช่วงครึ่งปีแรก บริษัทสามารถเติบโตได้สูงถึง 8% ส่วนช่วงที่เหลือของปี จะหันมารุกกลุ่มลูกค้ารายย่อยในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพิ่มมากขึ้น โดยเป็นกลุ่มที่มียอดขายตํ่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นประกันในส่วนของโรงงานและทรัพย์สิน

ช่วง 1-4 ปีแรกที่เข้ามา จะเน้นขยายเบี้ยรับรวมให้เติบโต โดยจะเห็นเติบโตจาก 1.08 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราหันกลับมาปรับปรุงระบบงานในบ้านและหน้าบ้าน ทำให้เบี้ยใหม่ขึ้นช้า แต่จะกำไรเรายังโตจาก 500 ล้านบาท มาสู่ระดับ 1,600 ล้านบาท หรือโตขึ้น 3 เท่า และรอบนี้เราจะกลับมาบุกตลาดดันเบี้ยใหม่อีกครั้ง ซึ่งต้นปีเป้าหมายเบี้ยเติบโต 7% ครึ่งปีแรกเราเห็นเบี้ยใหม่เติบโตเกินเป้าถึง 10% โดยประกันรถโตถึง 14% และนอนมอเตอร์โต 8%”

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,503 วันที่ 8-11 กันยายน 2562

‘ทิพย’ ใส่เกียร์  ลุยปั๊มเบี้ยประกันรถ