ใกล้เข้ามาทุกขณะกับการประกาศอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Doing Business) ของประเทศต่างๆทั่วโลกจากธนาคารโลก โดยจะประกาศทุกวันที่ 1 พฤศจิกายนของปี ซึ่งไทยเคยสร้างปรากฏการณ์ขยับขึ้นทีเดียว 20 อันดับมาแล้วในปี 2560 จากอันดับที่ 46 ขึ้นมาอยู่ที่ 26 แต่กลับถอยลงมาอยู่อันดับที่ 27 ในปี 2561 จึงต้องลุ้นกันว่า ปีนี้ประเทศไทยจะยืนในจุดไหน
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากรกรมศุลกากรเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปีที่แล้วคะแนนเราดีขึ้น แต่อันดับตกมาหนึ่งอันดับ เพราะมีประเทศอื่นก้าวไปไกลกว่า ทั้งที่จริงๆ เรามีการพัฒนา แต่ต้องเข้าใจว่า ประเทศที่มีช่องว่างเยอะ โอกาสที่จะก้าวไปข้างหน้า ก้าวได้ไกลกว่า และปีนี้ตั้งเป้าว่า อยากเป็นที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ไม่อยากเป็นที่ 3 ในตอนนี้ที่รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
ชัยยุทธ คำคุณ
ปีนี้ทางไทยรวมถึงกรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทยและหน่วยงานต่างๆ มีมาตรการที่เชื่อว่า จะสามารถทำให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจดีขึ้น เพราะได้นำเสนอให้กับทางเวิลด์แบงก์ไปแล้ว 3 มาตรการคือ1. Pre-Arrival Processing คือ การทำพิธีการก่อนการนำเข้าสินค้า โดยกำหนดให้ตัวแทนสายเรือหรืออากาศยาน ส่งข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือ(Manifest)มาล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีอากรล่วงหน้าได้ จากเดิมที่จะส่งได้หลังเรือหรืออากาศยานมาถึง 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นในระบบพิธีการศุลกากร ผู้ประกอบการจะยังส่งใบขนสินค้าไม่ได้ จนกว่าสายเดินเรือหรืออากาศยานจะยื่น Manifest
“ส่วนนี้เรามองว่า เป็นนวัตกรรม เพราะประเทศอื่นเขาไม่มี อาจมีที่ให้ยื่นใบขนก่อน แต่เสียภาษีก่อนยังไม่มี เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ประกอบการสามารถยื่นใบขนก่อนได้ เขาสามารถชำระภาษีอากรก่อนได้ พอเรือหรืออากาศยานมาถึง เอาของออกได้เลย อย่างอากาศยานเวลาลดลงไปเป็น 10 ชั่วโมง ซึ่งจะได้อานิสงส์ทั้งคนที่ยื่นเสียภาษีล่วงหน้าและไม่เสียล่วงหน้าก็ได้อานิสงส์”
2.e-Payment ซึ่งกรมศุลฯ มีมาตรการนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่คนใช้ e-Manifest ตํ่า จึงพัฒนา 2 เรื่องคือ ใบเสร็จ สมัยก่อนคนที่ใช้อี-เพย์เมนต์จะต้องไปเอาใบเสร็จที่กรมศุล ไม่สามารถพรินต์เองได้ แต่ปัจจุบันไม่ว่าจะเสียอี-เพย์เมนต์ด้วยวิธีไหนก็ตาม สามารถพรินต์ใบเสร็จได้ด้วยตัวเอง และยังเพิ่มช่องทางการชำระเงิน จากเดิมมีเพียงช่องทางเดียวคือ ใช้วิธีตัดบัญชีผ่านระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ประกอบการกับศุลกากร แต่ปัจจุบันได้นำระบบธนาคารมาเกี่ยวข้อง ระบบเซเว่น อีเลฟเว่น มาใช้ ผู้นำเข้าสามารถชำระค่าอากรที่ตรงไหนก็ได้ ซึ่่งผู้ประกอบการให้ข้อมูลว่าประหยัดเงินได้ 400 บาทต่อธุรกรรม ต่อปีหลายร้อยล้านบาท
3.เรากับการท่าเรือแห่งประเทศไทยเรื่อง e-Matching สมัยก่อนเวลาจะไปออกของผู้ประกอบการหรือตัวแทนออกของจะต้องไปพรินต์สำเนาใบขนสินค้าแล้วมายื่นให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจปล่อยสินค้า แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการส่งข้อมูลเข้าระบบ e-Custom หมดแล้ว ข้อมูลอยู่ในคอมพิวเตอร์แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะพรินต์ใบสำเนาให้กับเราอีก ส่วนนี้ทุ่นทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเตรียมเอกสารต่างๆ ประมาณการว่า ปีหนึ่งๆน่าจะทุ่นกระดาษได้ 60 ล้านแผ่นต่อปี ถ้าเฉลี่ยแผ่นละ 50 สตางค์ ก็ประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี
ทั้ง 3 มาตรการได้นำเสนอธนาคารโลกไปแล้ว เบื้องต้นเขาตอบรับและเห็นด้วยว่า มาตรการต่างๆ จะช่วยประเทศไทยในการลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในเรื่องพิธีการศุลกากร ทำให้นำสินค้าเข้าหรือออกสินค้าได้สะดวกรวด เร็วขึ้น จึงเชื่อมั่นว่า อันดับในการทำธุรกิจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Trading across border ง่ายขึ้น
“เราอยากขึ้นเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนและในอนาคตข้างหน้า เราต้องขึ้นเป็นที่ 1 ของอาเซียน แต่ต้องยอมรับว่า ยาก เพราะเรากับสิงคโปร์อาจจะมีบริบทของประเทศไม่เหมือนกัน แต่เรากับมาเลเซียคิดว่า เรามีข้อได้เปรียบหลายๆ อย่างถ้าทุกฝ่ายร่วมมือ เชื่อว่าเราจะก้าวเป็นอันดับ 2 ไม่ยากเลย”
หน้า19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,515 วันที่ 20-23 ตุลาคม 2562