ดันไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์จีโนมิกส์

18 พ.ย. 2562 | 08:41 น.

กบอ.เห็นชอบ แผนพัฒนาด้านสาธารณสุขใน EEC เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์จีโนมิกส์ คาดเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท พร้อมแผนจัดการขยะ ดึงเอกชนร่วม ด้านรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คืบ ตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ดันโครงการต่อ

นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ว่า ประชุมได้เห็นชอบแผนพัฒนาด้านสาธารณสุขใน EEC ใน 3 โครงการหลัก ที่จะก่อให้เกิดเงินลงทุนอีก 35,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณสุข วงเงิน 3,000 ล้านบาทใน 5 ปี เช่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลของต่างด้าวที่ทำงานใน EEC, การส่งเสริมให้เอกชน ร่วมทุนกับรัฐพัฒนาโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานในพื้นที่มากขึ้น และการส่งเสริมพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ให้เพิ่มขึ้น

ดันไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์จีโนมิกส์

รวมทั้งจะมีการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์จีโนมิกส์ โดยคาดการณ์จะมีเงินลงทุนของรัฐและเอกชนถึง 20,000 ล้านบาทใน 5 ปี โดยในระยะแรกที่ประชุมเห็นชอบใช้เงิน 750 ล้านบาท ในการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ซึ่งเป็นศูนย์ถอดรหัสทางพันธุกรรมของคนไทย ที่ทันสมัยได้มาตรฐานโลก โดยในเบื้องต้นจะนำร่องศึกษาเรื่องยีนส์พันธุกรรมของคนไทย 50,000 คนก่อน และหลังจากนั้นจะตั้งโรงพยาบาล รวมถึงโรงงานผลิตยาสำหรับจีโนมิกส์โดยตรง

 

นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบให้มีแนวทางการจัดการขยะในพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน เพื่อรองรับขยะที่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่จาก 4,200 ตันต่อวัน เป็น 6,800 ตันต่อวันในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาลงทุน ตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะแทนการฝังกลบ เพื่อตั้งเป้าพื้นที่ EEC จะเป็นเขตปลอดขยะแบบฝั่งกลบใน 12 ปี ซึ่งขณะนี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ลงทุนนำร่องสร้างโรงงานขยะที่สามารถกำจัดขยะได้วันละ 500 ตัน โดยในอนาคตจะสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาตั้งโรงงานไฟฟ้าจากขยะเพิ่มอีก 5-6 แห่ง และคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนถึง 12,000 ล้านบาท

ดันไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์จีโนมิกส์

“โครงการลงทุนทั้งหมดนี้ จะเน้นการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนเป็นหลัก ของรัฐจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่มาก เช่น เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อด้านเทคนิค ที่จะรอบรับกลุ่มเป้าหมายที่มารักษาพยาบาลใน 5 ปีข้างหน้า เช่น จีน สหรัฐ และเกาหลีใต้ ซึ่งแผนทั้งหมดจะนำเสนอ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิจารณารับทราบต่อไปในช่วงเดือนธ.ค.นี้”นายคณิต

ดันไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์จีโนมิกส์

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล คณะกรรมการบริหารสัญญา และโครงสร้างการบริหารจัดการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพื่อให้การบริหารสัญญาโครงการฯเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นโครงการ ที่มุ่งเน้นการออกแบบและ การก่อสร้างเป็นหลัก รวมถึงให้สอดคล้องกับกรอบกำหนดเวลาตามแผนการส่งมอบพื้นที่ ทั้งการเวนคืน การโยกย้ายผู้บุกรุก การรื้อย้ายสาธารณูปโภค การก่อสร้างทดแทน ช่วงดอนเมือง-พญาไท-และลาดกระบัง-อู่ตะเภา โดยเบื้องต้นในส่วนการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคจะใช้งบประมาณ 490 ล้านบาท เพื่อเปิดพื้นที่ให้เอกชนสามารถเข้าไปทำงานได้

ดันไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์จีโนมิกส์