ธุรกิจทวงหนี้อู้ฟู่เทขาย NPLพุ่ง1.5 แสนล้าน

14 ธ.ค. 2562 | 03:15 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2562 | 10:22 น.

ตลาดรับซื้อและบริหารหนี้อู้ฟู่ หลังแบงก์เทขายเอ็นพีแอลปีนี้ 1.5 แสนล้าน สูงเป็นประวัติการณ์ คาดปีหน้า ฟ้องคดีเพิ่ม 200% เลี่ยงกฎหมายทวงหนี้โทร. 2 ครั้ง ปรับ 1 แสน

 

แรงกดดันจากมาตรฐานบัญชี TFRS9 ที่จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 บวกกับความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน หลังเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และหนี้จัดชั้น กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) จึงเห็นการหดตัวลงของยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ ทำให้ทั้งสถาบันการเงินและนอนแบงก์ ทยอยขายหนี้ออกส่วนหนึ่ง เพื่อดึงเงินกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ มาเป็นกำไรและหลายค่ายหวังลดภาระการตั้งสำรอง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจรับซื้อหนี้และบริหารหนี้ที่ได้รับอานิสงส์ ทำให้การประมูลหนี้หรือรับซื้อหนี้คึกคักสวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บรรยากาศการติดตามทวงถามหนี้ในไตรมาส 4 ยังมีทิศทางดีต่อเนื่องเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก เพราะการรับรู้รายได้ทางบัญชีและยอดหนี้คงค้างเติบโตเป็น 1.57 แสนล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างประมูลอีก 1 หมื่นล้านบาทคาดว่า ทั้งปีนี้จะประมูลหนี้ไม่ตํ่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อน โดยปี 2563 ตั้งเป้าใช้เงินลงทุน 4,500 ล้านบาทเท่ากับปีนี้ คาดว่าสิ้นปีหน้า ยอดหนี้คงค้างน่าจะอยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท

ธุรกิจทวงหนี้อู้ฟู่เทขาย NPLพุ่ง1.5 แสนล้าน

สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์

“มาตรฐานบัญชี TFRS9 จะกดดันให้สถาบันการเงินตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ทำให้หลายแห่งขายเอ็นพีแอล ทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันออก เราจึงได้รับอานิสงส์ไม่ว่าจะรับซื้อหนี้ รับจ้างติดตามทวงถามหนี้ และรับประกันภัย ซึ่งมีสัดส่วน 77% 15% และ 8% ตามลำดับ”

 

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO กล่าวว่า ปีนี้สถาบันการเงินระมัดระวังเรื่องภาระกันสำรอง จึงเห็นการนำเอ็นพีแอลออกขายจำนวนมาก จากปกติแต่ละปีจะมีประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท แต่ปีนี้เฉพาะที่มาขายให้ CHAYO มีมูลหนี้รวม 1.5 แสนล้านบาท แต่สามารถซื้อได้เพียง 1.2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือน่าจะยกยอดไปเปิดขายในปีหน้า

สำหรับพอร์ต CHAYO ปีนี้แตะ 5.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน 3.6 หมื่นล้านบาทที่เหลือเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยทิศทางการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมาย ในส่วนของการรับซื้อหนี้ที่เติบโต 15% และไตรมาส 3 สามารถเรียกเก็บหนี้ได้มากกว่าปีก่อนทั้งปีแล้ว ส่วนรับจ้างบริหารหนี้เติบโตกว่า 50% ส่วนธุรกิจคอลล์เซ็นเตอร์หรือ Property และปล่อยสินเชื่อ ยังไม่ขยายตัวเท่าที่ควร โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อปีนี้ คาดว่าจะปล่อยได้ 30% ของเป้าที่ตั้งไว้ 200 ล้านบาททั้งสินเชื่อมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน

ธุรกิจทวงหนี้อู้ฟู่เทขาย NPLพุ่ง1.5 แสนล้าน

 

“เราอยู่ระหว่างเตรียมแผนธุรกิจปี 2563 เบื้องต้นคาดว่า จะเติบโต 20% โดยจะมาจากธุรกิจรับซื้อหนี้ รับจ้างบริหารหนี้และปล่อยสินเชื่อ ซึ่งปีหน้า นอกจากจะเห็นสถาบันการเงินนำเอ็นพีแอลออกมาขายแล้วยังส่งพอร์ตลูกหนี้ให้บริษัทติดตามทวงถามหนี้ (Outsource Agent:OA) ติดตามทวงถามหนี้แทน และจะมีคดีฟ้องลูกหนี้ขึ้นสู่ศาลจำนวนมาก เพราะทั้งเจ้าหนี้และ OA เลือกฟ้องคดี ดีกว่าไม่ถูกกฎเกณฑ์ ซึ่งกฎหมายติดตามทวงถามหนี้ ยังมีประเด็นทำให้คนดีเสียโอกาสด้วย”

 

นายประชา ชัยสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ไตรมาส 4 ปีนี้ จะมีการขายเอ็นพีแอลออกมาจำนวนมาก จาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ 2558 และมาตรฐานบัญชี TFRS9 ซึ่งในส่วนซึ่งกฎหมายทวงหนี้ ทำให้การติดตามทวงถามยากขึ้น จากข้อจำกัดที่กำหนดให้ทวงถามได้วันละ 1 ครั้ง ทำให้ทั้งสถาบันการเงิน นอนแบงก์และ OA เลือกที่จะฟ้องคดีลูกหนี้แทนที่จะใช้วิธีในการติดตามทวงถาม โดยเชื่อว่าปีหน้า จะมีคดีขึ้นสู่ศาลมากถึง 200% จากปัจจุบันที่มีคดีค้างอยู่ในศาลจำนวนมากซึ่งเป็นภาระให้ศาลพิจารณาคดีในวันหยุด

“สมัยก่อนผมฟ้องคดี 1,000 คดี ถือว่าเยอะแล้ว แต่ปีนี้ฟ้องกว่า 2,000 คดี สาเหตุที่เลือกฟ้อง เพราะถ้าโทร.ทวงถามลูกหนี้ 2 ครั้งจะถูกปรับ 1 แสนบาท ที่สำคัญส่วนที่ฟ้องคดีนั้น ลูกหนี้เองจะต้องรับภาระเพิ่ม เนื่องจากเวลาฟ้องคดีหนี้ จะยืดออกไป 6 เดือนถึง 1 ปีกว่าจะกลับมาเจรจากันใหม่”

ส่วนที่บอกว่า กฎหมายทวงถามหนี้ ทำให้เจ้าหนี้ลำบากหรือเลือกที่บอกว่าเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคนั้น มีความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะในระบบจะมีบางคนที่รอการลดหนี้ ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติคอยให้รัฐบาลออกมาช่วย ขณะที่ลูกหนี้ดีก้มหน้าผ่อนตรงเวลารับผิดชอบในภาระจนครบสัญญา จึงเป็นคำถามว่า สิ่งที่นำมาบังคับใช้เป็นธรรมสำหรับลูกหนี้ดีหรือไม่

“ปีนี้มีมูลหนี้ให้ติดตามเพิ่มขึ้น โดยประมูลมา 2 หมื่นล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์และรับจ้างบริหารทวงถามแต่เป้าเรียกเก็บหนี้อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเดือนหนึ่งไม่ถึง 100 ล้านบาท ลดลงมาก ซึ่งที่จริง ควรจะทำได้ 1,500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายทวงถามหนี้ และความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ ทำให้ลูกหนี้หยุดผ่อนหรือชำระไม่สมํ่าเสมอ ที่สำคัญยังพบว่า ลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้บางคนเพราะรายได้ลดลง”

หน้า19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,530 วันที่ 12-14 ธันวาคม พ.ศ. 2562