นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า โครงการคลีนิกแก้หนี้เดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 3 โดยได้ขยายขอบเขตให้แก้ไขหนี้บัตรที่มีเจ้าหนี้รายเดียว หรืออยู่ในกระบวนการของศาลและมีคำพิพากษาแล้ว(คดีแดง) รวมทั้งขยายคุณสมบัติผู้เข้าโครงการเป็น 1 ม.ค. 2563 ซึ่งการปลดข้อจำกัดดังกล่าวสามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรของประชาชนได้ในแทบทุกกลุ่ม
"ปีนี้คาดว่า จะมีลูกหนี้เข้ามา 5,000 ราย รวมเป็น 8,000 ราย(รวมจำนวนรายที่อยู่ในกระบวนการแล้ว 3,194 ราย) ซึ่งลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับข้อเสนอที่ผ่อนปรนเช่น ชำระเฉพาะเงินต้นนาน 10 ปี คิดดอกเบี้ย 4-7% ต่อปี ทำให้ภาระผ่อนชำระลดลง เช่นมูลหนี้ 50,000 บาท ให้ผ่อนชำระ 600 บาท/งวด หรือหนี้ 1 แสนบาทผ่อนชำระที่ 1,200บาท/งวด และยกดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนเข้าโครงการให้รายที่ปฎิบัติครบตามสัญญา"
ทั้งนี้ที่ผ่านมา 3 ปีคลินิกแก้หนี้ สามารถช่วยประชาชนแก้หนี้บัตรไปแล้ว 3,194 ราย ครอบคลุมบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดกว่า 13,000 ใบ มีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 3 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 234,843 บาท ในจำนวนนี้ 72 รายชำระหนี้หมดแล้ว สามารถหลุดจากวงจรหนี้บัตร
ด้านนายโชคชัย คุณาวัฒน์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินกล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารจะเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้โดยจะเริ่มโครงการ Refinance หนี้บัตรดี เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนที่มีวินัยและมีประวัติการผ่อนชำระดีเยี่ยม พร้อมคิดดอกเบี้ยต่ำตามความเสี่ยงตั้แต่ 8.5-10.50% ต่อปี จากที่เดิมต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง 18% หรือ 28% ต่อปี
"เราเตรียมวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับลูกค้ารายย่อยที่มีวินัย ซึ่งจะประเมินผลตอบรับภายในเวลา 4 เดือน หลังจากเริ่มรับลูกค้าตั้งแต่เดือนมี.ค.- มิ.ย.2563"