ท่ามกลางพายุ "ดิสรัปชัน" การปรับตัวของธุรกิจจำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามารองรับ และหนึ่งในสิ่งจำเป็นคือวิชชั่นของผู้บริหารองค์กร จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)หรือเคแบงก์ จะสร้างความเซอร์ไพรส์อีกครั้ง ด้วยการแต่งตั้งซีอีโอผู้หญิงคนแรกของประวัติธนาคาร
เรื่องนี้คงต้องย้อนไปถึงผู้บริหารเดิมคือ"นายบัณฑูร ล่ำซำ "กรรมการและประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ ประธานบอร์ด ที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี นับตั้งแต่การเข้ามาบริหารงาน โดยเริ่มทำงานในฝ่ายกิจการต่างประเทศธนาคารกสิกรไทยเมื่อปี 2522 ก่อนก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการในปี 2535 และเป็นกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทยเมื่อปี2545 จนถึงปัจจุบัน
นับเป็นเวลาถึง 41 ปีเต็มที่ "บัณฑูร" ได้เข้ามาทำงานในธนาคารกสิกรไทย ทำให้ธนาคารมีความเปลี่ยนแปลงหลายประการ เป็นต้นแบบในการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของกสิกรไทย ในรูปแบบการบริหารธุรกิจธนาคารแบบใหม่ ด้วยการจัดตั้งหน่วย ยุทธศาสตร์และนวัตกรรมทำการรีเอ็นจิเนียริ่ง ธนาคารกสิกรไทย เมื่อปี 2537 ช่วงนั้นทำให้ธุรกิจทางการเงินรวมถึงบริษัทต่างๆลุกขึ้นมาทำรีเอ็นจิเนียริ่งองค์กรเป็นทิวแถว
มีการรื้อกระบวนการทำงาน ตั้งแต่ ลดขั้นตอน ลดเวลาให้บริการและเพิ่มผลผลิตต่อชิ้นงานที่สูงขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำ ในระหว่างปี 2526-2539 ที่ รัฐบาลไทยได้เปิดเสรีทางการเงินนับเป็นจุดเริ่มต้นของการหาวิธีเอาตัวรอดท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ จนมาถึงปี 2540 ด้วยฝีมือและวิสัยทัศน์ของ"บัณฑูร" จึงสามารถฝ่าวิกฤติได้ก่อนหลายธนาคารที่เผชิญวิกฤติระบบการเงินของประเทศ
โดยธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแรกที่ระดมทุนก้อนใหญ่จากต่างประเทศสำเร็จ จากนั้นในปี 2541 เป็นผู้นำรายแรกของประเทศไทยในการระดมทุน รูปแบบใหม่ ด้วยการเสนอขายหุ้นบุริมสิทธิควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (SLIPsและCAPs)
แม้ภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ตระกูลล่ำซำ จะกลายเป็นเพียงผู้ถือหุ้นส่วนน้อยของธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น แต่การระดมทุนวิธีนี้ นอกจากจะทำให้ไม่เป็นหนี้เสียของรัฐทั้งระบบแล้ว ยังเป็นแนวทางให้ธนาคารแห่งอื่นใช้ระดมทุนในเวลาต่อมา และรักษาธุรกิจมาถึงวันนี้ แต่"บัณฑูร"ยังคงมุ่งมั่นในการนำกสิกรไทยสู่การเป็นธนาคารที่มีความยั่งยืน ถือว่าเป็นนายธนาคารผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมาก
"บัณฑูร" ยังได้ยกเครื่ององค์กรเตรียมรองรับกับการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการบริหารงานอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่า การแข่งขันในโลกธุรกิจเกิดขึ้นตลอดเวลา หากธุรกิจไม่สามารถสร้างนวัตกรรมให้เท่าทันกับตลาดโลกก็ต้องยอมถอยไป
จนถึงเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 จึงประกาศขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ต่อคณะกรรมการธนาคาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป และส่งไม้ต่อให้กับ "ขัตติยา อินทรวิชัย" กรรมการและกรรมการผู้จัดการ ให้เป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของธนาคาร สืบแทนนายบัณฑูร ที่ครบกำหนดตามสัญญา และแต่งตั้งกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร มารักษาการประธานแทน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไปนั้น ขณะที่มติคณะกรรมการธนาคาร เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 มีมติเป็นเอกฉันท์ มอบฉายาให้ นายบัณฑูร ล่ำซำ เป็น"ประธานกิตติคุณ "หรือ "Chairman Emeritus" โดยมีผลในวันเดียวกัน
นับเป็นครั้งแรกของธนาคารที่ได้มีซีอีโอเป็นผู้หญิงคนแรก และเป็นซีอีโอคนแรกที่ไม่ใช่คนของตระกูลล่ำซำ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก
ทั้งนี้คาดกันว่า จากการพิจารณาผู้ที่จะมาบริหารงานต่อท่ามกลางวิกฤติดิสรัปชั่น และการแข่งขันทางการเงินสูงนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้ผู้ที่มีแนวคิดทางการตลาดเข้ามาบริหาร
"ขัตติยา"สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี บริหารธุรกิจ สาขาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท (บริหารธุรกิจ-การเงินและการลงทุน) The University of Texas at Austin, U.S.A.เริ่มเข้าทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย เมื่อปีพ.ศ.2530 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการวาณิชธนกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาดและเครดิต ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายยุทธศาสตร์องค์การ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รองกรรมการผู้จัดการ
ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ทำหน้าที่ผู้บริหารสายงานการเงินและควบคุมนอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประธานกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด กรรมการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด และกรรมการ บริษัท เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด
ว่าที่ซีอีโอคนใหม่ที่ต้อง ขึ้นมารับภาระแทน "บัณฑูร" นั้นประสบการณ์ทำงานไม่ธรรมดา ผ่านงานในทุกสาย ทุกสาขาของธนาคารมาแล้ว ยังเคยดูงานด้าน การตลาด ยุทธศาสตร์องค์กร บริการ และที่สำคัญเป็นผู้บริหารที่เชี่ยวชาญด้าน "การเงินการบัญชี"คนหนึ่ง
ที่สำคัญอีกประการคือการเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่สนใจในด้านดิจิทัลแบงกิ้ง เชี่ยวชาญงานด้านการตลาด และแน่นอนว่าพร้อมจะผลักดันกสิกรไทยไปสู่ทิศทางใหม่ด้วย ดิจิทัลแบงกิ้ง ภายใต้ data driven lending
ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทย มีสินทรัพย์ และหนี้สิน ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่รวมสินทรัพย์ 2,762,737,703,000 บาท (2.76ล้านล้านบาท) รวมหนี้สิน 2,394,540,929,000 บาท (2.39ล้านล้านบาท)