ยังคงผันผวนต่อเนื่องกับราคา นํ้ามันดิบโลก หลังจากรับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยก่อนหน้านั้น ราคานํ้ามันดิบโลกปรับตัวลดลงจากการแข่งขันด้านราคา และการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกนํ้ามัน (โอเปก) และพันธมิตรอยู่ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่การปรับลดดังกล่าวยังไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับความต้องการใช้นํ้ามันที่ลดลงประมาณ 30% หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปริมาณความต้องการนํ้ามันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างหนัก หลังผู้คนกว่าพันล้านคนต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคา นํ้ามันดิบสหรัฐฯ ติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เดือนพฤษภาคม ปิดการซื้อขายในวันจันทร์ที่ 20 เมษายน ติดลบ 37.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งถือเป็นอัตราการลดลงถึง 306% จากวันก่อนหน้า หลังร่วงลงไปแตะระดับตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ที่ ติดลบ 40.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในระหว่างวัน ขณะที่ราคานํ้ามันดิบเบรนท์ลดลง 2.51 ดอลลาร์ หรือ 9% มาอยู่ที่ 25.57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
รายงานข่าวจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดเผยว่า การปรับลดลงของราคานํ้ามันดิบโลกช่วงที่ผ่านมา กดดันต่อราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน โดยตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 20 เมษายน 2563 ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานปิดที่ 19,652.27 จุด ลดลง 5,419.76 จุด หรือ 21.61% จากวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ปิดที่ 25,072.03 จุด ปรับลดลงมากกว่าดัชนีหุ้นไทยที่ลดลง 19.84%
ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของกลุ่ม ณ วันที่ 20 เมษายน 2563 อยู่ที่ 2,999,871.24 ล้านบาท ลดลง 827,312.52 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 3,827,183.76 ล้านบาท หากเทียบกับมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้น ณ วันที่ 20 เมษายน 2563 อยู่ที่ 13,622,759.80 ล้านบาท ลดลง 3,124,696.03 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 16,747,455.83 ล้านบาท
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ราคานํ้ามันดิบปิดวันที่ 20 เมษายน 2563 ปรับตัวลงทุกตลาด โดยเฉพาะดัชนีอ้างอิงในสหรัฐฯ WTI ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ -37.6 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพราะเป็นการซื้อขายวันสุดท้ายของราคานํ้ามันล่วงหน้าเดือนพฤษภาคม จึงต้องมีการปิด position อาจมีการเก็งกำไรก่อนหน้ามากเกินไป ทำให้มีความผันผวนสูง ซึ่งเป็นลักษณะของการซื้อขาย Future ทั่วไป
อย่างไรก็ตาม มองว่า เป็นปัจจัยเชิงลบช่วงสั้นต่อกลุ่มนํ้ามัน เพราะเป็นการปรับตัวลดลงแรงเป็นประวัติการณ์ แต่ล่าสุดการซื้อขายนํ้ามันดิบอ้างอิง WTI ก็จะเปลี่ยนเป็นการซื้อขายด้วยสัญญาใหม่ของเดือนมิถุนายน ซึ่งราคาล่าสุดกลับมาอยู่ในกรอบปกติ 21-22 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล อีกทั้งหากพิจารณา ราคาปิดนํ้ามันดิบอ้างอิงตลาดอื่นๆ อาทิ Brent และ Dubai พบว่า การปรับตัวลดลงยังคงอยู่ในกรอบปกติ
เบื้องต้นฝ่าย วิจัยยังคงอิงสมมติฐานราคานํ้ามันดิบดูไบในปี 2563 ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่หากมีการปรับลดสมมติฐานราคานํ้ามันดิบลดลงทุก 5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในระยะยาวจะกระทบมูลค่าพื้นฐานของบมจ.ปตท.สผ. (PTTEP) ประมาณ 10-12 บาทต่อหุ้น และบมจ.ปตท. (PTT) ประมาณ 2-3 บาทต่อหุ้น
สำหรับคำแนะนำการลงทุนในหุ้นกลุ่มนํ้ามันทั้ง PTT และ PTTEP นั้นในระยะยาว ยังคงแนะนำซื้อ ด้วยมูลค่าพื้นฐาน PTT ที่ 42 บาท และ PTTEP ที่ 100 บาท แต่ในช่วงสั้นนั้น ราคาหุ้นอาจยังได้รับแรงกดดันจากราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจากความต้องการใช้ที่หดตัวอย่างรุนแรง ดังนั้นการเข้าลงทุนอาจต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น หาจังหวะเข้าลงทุนเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัว
ด้านบล.ทรีนีตี้ จำกัด ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลในระยะกลางถึงยาว คือ ภาพรวมของตลาดนํ้ามันดิบที่อาจจะเปลี่ยนไป โดยประเมินว่า ท่าทีของสหรัฐฯในช่วงถัดไป จะหันมาเน้นการช่วยเหลือผู้ผลิตนํ้ามันในประเทศอย่างจริงจัง อาทิ การรับซื้อนํ้ามันเพื่อกักเก็บในคลังสำรองยุทธศาสตร์(SPR) ซึ่งล่าสุด นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมตัดสินใจสั่งซื้อนํ้ามันจำนวน 75 ล้านบาร์เรลเข้า SPR นอกจากนี้ สหรัฐฯอาจเริ่มนำ เข้านํ้ามันจากประเทศอื่นๆ น้อยลง รวมถึงซาอุดีอาระเบียที่สหรัฐฯนำเข้านํ้ามันประมาณ 6%
ทั้งนี้มองว่าเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือ การที่ซาอุฯ จะประกาศให้ส่วนลดราคา OSP ของตนเองไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในระดับสูงเช่นเดิมต่อไป เพื่อกำจัดอุปทานส่วนเกินจากสหรัฐฯที่สั่งซื้อน้อยลงอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อการประกาศราคารอบล่าสุด ส่งผลให้ราคานํ้ามันทางฝั่งเอเชียและยุโรปมีแนวโน้มอยู่ในระดับตํ่าต่อไปด้วยเช่นกัน และส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงของ PTTEP
ด้านบล.หยวนต้า(ประเทศ ไทย) จำกัด ระบุว่าให้นํ้าหนักกับ ราคานํ้ามัน WTI และ Brent สัญญาส่งมอบเดือนมิถุนายน ซึ่งราคาอยู่ระดับ 20-26 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลมากกว่า ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับราคานํ้ามัน WTI สัญญาเดือนมิถุนายนพบว่า ราคานํ้ามันสัญญาเดือนพฤษภาคมมีส่วนลดจำนวนมากถึงขั้นติดลบ สะท้อนว่า ความต้องการรับนํ้ามัน Physical ตํ่ามาก และที่ว่างในคลังสำหรับเก็บนํ้ามันของผู้ค้านํ้ามันเหลือน้อยเต็มที่
หากอุปทานล้นตลาดยังไม่ได้รับการแก้ไข ราคานํ้ามัน WTI ที่จะส่งมอบเดือนมิถุนายน อาจประสบปัญหาเช่นเดียวกับช่วงสิ้นสุดสัญญา ทั้งนี้ ต้องติดตามว่าความร่วมมือลดการผลิตนํ้ามันของโอเปกพลัส 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่จะเริ่มต้นขึ้นเดือนพฤษภาคม และการเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในหลายประเทศ จะสามารถดูดซับอุปทานล้นตลาดได้มากน้อยแค่ไหน
หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,568 วันที่ 23-25 เมษายน 2563