เหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ส่งสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) และยอดการปรับโครงสร้างหนี้ขยับเพิ่มเป็น 9.5 แสนล้านบาทและ 9.7 แสนล้านบาท ตามลำดับ ไม่รวมมาตรการพักเงินต้นและดอกเบี้ย โดยก่อนหน้าที่โควิดจะส่งผลกระทบยอดปรับโครงสร้างหนี้เดิมอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท จึงมีแนวโน้มทั้งเอ็นพีแอลและยอดปรับโครงสร้างหนี้จะจะขยับเกิน 1ล้านล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ทำให้สถาบันการเงินต้องตรวจข้อมูลลูกค้าเก่า เพื่ออนุมัติสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 11.34 ล้านล้านบาท เมื่อช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 11.74 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 3.5% ประกอบด้วย สินเชื่อบ้าน 4.03 ล้านล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ 2.43 ล้านล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 2.13 ล้านล้านบาท สินเชื่อบัตรเครดิต 4.68 แสนล้านบาท
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เอ็นซีบี)หรือเครดิตบูโร เปิดเผยว่า 4 เดือนที่ผ่านมาสถาบันการเงินเข้าตรวจข้อมูลลูกค้าเก่าเพื่ออนุมัติสินเชื่อใหม่ 26 ล้านครั้ง เฉพาะเดือนเมษายนเดือนเดียว 10 ล้านครั้ง จากทั้งปีก่อนรวมจำนวน 55 ล้านครั้ง สะท้อนการค้นหาลูกค้าที่มีศักยภาพ
ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จำนวน 9.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 7.7 แสนล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวน 9.7 แสนล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 8.4แสนล้านบาท
“ ทั้งเอ็นพีแอล และยอดการปรับโครงสร้างหนี้(TDR)นั้นมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านล้านบาทภายในปีนี้ โดยตอนนี้เห็นการเร่งตัวเพิ่มเป็น 9.7 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมมาตรการพักหนี้ จากก่อนหน้ามีอยู่กว่า 2 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับเอ็นพีแอลเพิ่มเป็น 9.5 แสนล้านบาท จากไตรมาสแรกปี 2558 อยู่ที่ 4.35 แสนล้านบาทหรือ 5.3%ของยอดสินเชื่อคงค้าง 8.2ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นห่วง สินเชื่อส่วนบุคคลกับสินเชื่อบ้านที่มียอดปรับโครงสร้างหนี้และเอ็นพีแอลสะสมเพิ่มขึ้น”
เห็นได้จากสินเชื่อ 4โปรดักส์ได้แก่ สินเชื่อบ้าน เอ็นพีอยู่ที่ระดับ 5.8% TDR ปรับเพิ่มเป็น 7.7% โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์เอ็นพีแอลเพิ่มเป็น 6.2%จาก 5.9% ซึ่งการค้างชำระสินเชื่อรถยนต์มีลักษณะเลี้ยงงวดส่ออาการพอควร
สินเชื่อบัตรเครดิตเอ็นพีแอลเพิ่มเป็น 15.2% จาก13.5% โดยมาตรการลดวงเงินผ่อนชำระค่างวดน่าจะชะลอการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลได้ แต่แนวโน้มปีนี้ธุรกิจบัตรยังเหนื่อย และสินเชื่อส่วนบุคคล เอ็นพีแอลขยับเพิ่มจาก 13.8%เป็น 14.2%ซึ่งสถาบันการเงินพยายามควบคุมให้อยู่ในระดับ 10%
สำหรับไตรมาส1ของปี 2563 สมาชิกมีจำนวน 103 ราย โดยมีฐานลูกหนี้บุคคล 108 ล้านบัญชี 28 ล้านลูกหนี้ ส่วนผู้ประกอบการหรือบัญชีนิติบุคคล 4.3 ล้านบัญชียอดสินเชื่อคงค้าง 4แสนล้านบาทโดยธุรกรรมการยื่นขอสินเชื่อใหม่ไม่มากมีจำนวน 4.5 ล้านใบสมัคร