นับจากที่กองทุนประกันสังคมได้เริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2534 จนถึง ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 มีเงินกองทุนประกันสังคมจำนวนทั้งสิ้น 2,169,172 ล้านบาท จำนวนนี้ประมาณ 93.72% ถูกจัดสรรเพื่อการลงทุนเป็นเงิน 2,032,841 ล้านบาท ( เป็นเงินสมทบสะสม 1,357,119 ล้านบาท และดอกผลจากการลงทุนสะสม 675,722 ล้านบาท )
ไม่นานมานี้ นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม ได้รายงานถึงผลการดำเนินงานการบริหารการลงทุนกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ระบุว่าในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 สำนักงานประกันสังคมสามารถสร้างผลตอบแทนจากเงินกองทุนประกันสังคมซึ่งมีเงินลงทุน 2,032,841 ล้านบาท เป็นจำนวน 9,692 ล้านบาท และผลตอบแทนจากกองทุนเงินทดแทน ที่มีเงินลงทุนสะสม 64,621 ล้านบาท ( เงินสมทบจากนายจ้าง 42,393 ล้านบาท และดอกผลจากการลงทุนสะสม 22,228 ล้านบาท ) จำนวน 591 ล้านบาท รวมแล้วสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้สูงถึง 10,283 ล้านบาท
ผ่าแผนลงทุนประกันสังคม
อย่างไรก็ดีหากเจาะลึกจากไส้ใน เงินลงทุนกองทุนประกันสังคม 2,032,841 ล้านบาท เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงวงเงิน 1,671,176 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 82% ส่วนอีก 18% เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงวงเงิน 361,665 ล้านบาท ประกอบด้วย
การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่
- พันธบัตรรัฐบาล ธปท. รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน รวม 1,380,198 ล้านบาท คิดเป็น 67.90%
-หุ้นกู้เอกชนหรือ securitized debt ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 102,355 ล้านบาท คิดเป็น 5.04%
- เงินฝาก 95,190 ล้านบาท คิดเป็น 4.68%
- หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 93,433 ล้านบาท คิดเป็น 4.60%
การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่
- ตราสารทุนไทยหรือหุ้นไทย 206,672 ล้านบาท คิดเป็น 10.17%
-หน่วยลงทุนตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือและตราสารทุนต่างประเทศ 62,889 ล้านบาทคิดเป็น 3.09%
-หน่วยลงทุนอสังหาฯ ,โครงสร้างพื้นฐาน , ทองคำรวม 81,746 ล้านบาท คิดเป็น 4.02%
- พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน 10,358 ล้านบาท คิดเป็น 0.51%
ผลตอบแทนลงทุนหุ้นติดลบ
จากการพิเคราะห์ของ"ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า แม้กองทุนประกันสังคมจะสามารถสร้างผลตอบแทนในไตรมาส 1/2562 จำนวน 9,692 ล้านบาท แต่เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 24.22% จากไตรมาส 1/2562สร้างผลตอบแทนได้ 12,790 ล้านบาท สาเหตุมาจากรายได้จากเงินปันผล การขายหุ้นและหน่วยลงทุนในไตรมาสแรกปีนี้ ติดลบ 982 ล้านบาท ส่วนรายได้จากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้อยู่ที่ 10,674 ล้านบาท สวนทางกับไตรมาส1/2562 สามารถสร้างผลตอบแทน 12,790 ล้านบาท มาจากเงินปันผล การขายหุ้นและหน่วยลงทุน 2,846 ล้านบาท และจากดอกเบี้ยเงินฝากและขายตราสารหนี้จำนวน 9,944 ล้านบาท
ทั้งยังมีแนวโน้มว่าผลตอบแทนในช่วงที่เหลือของปีนี้จะลดลง จากการที่ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ย และกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.)หดตัว จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรุนแรง อันเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลต่อรายได้ในรูปดอกเบี้ยฝาก เงินปันผลและราคาหุ้น
จากการรวบรวมข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ พบว่าปัจจุบันกองทุนประกันสังคม ลงทุนในหุ้นไทยและหน่วยลงทุนอสังหาฯ/โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิ้น 84 หลักทรัพย์ มูลค่ารวม ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ประมาณ 207,000 ล้านบาท โดย 10 อันดับหลักทรัพย์ที่ลงทุนสูงสุดมีมูลค่ารวม 106,971 ล้านบาท ลดลง 18.86% จาก ณ สิ้นปี 2562 ที่มีมูลค่ารวม 131,840 ล้านบาท
ได้แก่ 1.SCC (บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย) มูลค่า 16,794 ล้านบาท โดยถือหุ้น 4.08% (ราคาหุ้นเมื่อ 30 ธ.ค.62 อยู่ที่ 392บาท ล่าสุด 29 พ.ค. 63 อยู่ที่ 343 บาท ) ,2 .PTT (บมจ.ปตท.) มูลค่า 14,449 ล้านบาท ถือหุ้น 1.42% (ราคาหุ้น 30 ธ.ค.62 อยู่ที่ 44.00 บาท ล่าสุด 35.50 บาท , 3.CPALL(บมจ.ซีพี ออลล์ ) มูลค่า 12,938 ล้านบาท ถือหุ้น 2.04% ( ราคา 30 ธ.ค. 62 อยู่ที่ 72.25 บาท ล่าสุด 70.50 บาท) 4. ADVANC (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) มูลค่า 10,725 ล้านบาท ถือหุ้น 1.87%(ราคา30 ธ.ค.62 อยู่ที่ 213 บาท ล่าสุด 192.50 บาท ) 5. AOT (บมจ.ท่าอากาศยานไทย) มูลค่า 10,202 ล้านบาท ถือหุ้น 1.15% ( ราคา 30 ธ.ค.62 อยู่ที่ 74.25 บาท ล่าสุด 62.00 บาท )
6.BDMS (บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ) มูลค่า 9,596 ล้านบาท ถือหุ้น 2.68% (ราคา 30 ธ.ค.62 อยู่ที่ 26.00 บาท ล่าสุดเมื่อ 29 พ.ค. 63 อยู่ที่ 22.50 บาท ), 7.KBANK (บมจ.ธนาคารกสิกรไทย) มูลค่า 8,247 ล้านบาท ถือหุ้น 3,59% ( ราคา 30 ธ.ค.62 อยู่ที่ 151.00 บาท ล่าสุด 96.00 บาท ) ,8.SCB (บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์) มูลค่า 8,081 ล้านบาท ถือหุ้น 3.22% ( ราคา 30 ธ.ค.62 อยู่ที่ 122 บาท ล่าสุด 74.00 บาท ) ,9. WHART (ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท ) มูลค่า 7,421 ล้านบาท ถือหุ้น 16.89% (ราคา 30 ธ.ค.62 อยู่ที่ 17.40 บาท ล่าสุดอยู่ที่ 17.20 บาท ) และ 10.BBL (บมจ.ธนาคารกรุงเทพ) มูลค่า 8,518 ล้านบาท โดยถือหุ้น 4.09% (ราคา 30 ธ.ค.62 อยู่ที่ 160 บาท ล่าสุดอยู่ที่ 109.00 บาท)
อัตราผลตอบแทน"ประกันสังคม" VS กบข.
ผลตอบแทนเมื่อเทียบขนาดเงินลงทุน 2,032,841 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาส 1/ 2563 กองทุนประกันสังคม ให้อัตราผลตอบแทน 0.48% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 0.65% (ไตรมาส1/2562 มีผลตอบแทน 12,790 ล้านบาท และเงินลงทุน 1,968,975 ล้านบาท )
นอกจากนี้หากเทียบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ( กรอบลงทุนตามมาตรา 70 พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 กำหนดให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่น้อยกว่า 60% และสินทรัพย์อื่นได้ไม่เกิน 40% ) พบว่าในช่วง 5 ปี ( ปี 2558- 2562 ) กองทุนประกันสังคม สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย3.38% ต่อปี ส่วนกบข.ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 4.17% ต่อปี (อ่านเพิ่มเติมจากตารางประกอบ )
ความสามารถในการสร้างผลตอบแทน ยังส่งผลถึงรายรับของกองทุนประกันสังคม ( จาก 3 แหล่งคือ เงินสมทบรับ ผลตอบแทนจากการลงทุน และรายได้อื่น) เพราะแม้ว่ารายรับของกองทุนประกันสังคมจะเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนใหญ่มาจากเงินสมทบที่เพิ่มอย่างต่อเนื่องตามจำนวนผู้ประกันตน แต่เพิ่มในอัตราที่ช้ากว่ารายจ่าย (รายจ่ายจาก การจ่ายประโยชน์ทดแทน ค่าบริหารสำนักงาน และรายจ่ายอื่น ๆ )
จะเห็นว่าปี 2562 กองทุนประกันสังคมมีรายรับ 303,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 15.45%, ปี 2561 มีรายรับ 262,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.47% และปี 2560 มีรายรับ 253,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.50% แต่ฟากของรายจ่ายปี 2562 อยู่ที่ 109,961 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.93% ,ปี 2561 มีรายจ่าย 93,242 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.52% และปี 2560 รายจ่าย 83,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.76% โดยเฉพาะในปีนี้ที่ประเทศไทยประสบวิกฤติโควิด-19 รายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการจ่ายทดแทนการว่างงานจากเหตุวิสัย และรัฐยังได้ผ่อนผันการนำเงินส่งสมทบของนายจ้างและลูกจ้าง ย่อมส่งผลต่อสถานะเงินกองทุนประกันสังคมไม่มากก็น้อย
กองทุนประกันสังคม (ทุกมาตรา) มีผู้ประกันตนในความคุ้มครอง ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 16,739,048 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจำนวน 631,266 คน เพิ่มขึ้น 3.92% โดยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,730,351 คน , ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,665,227 คน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 3,343,470 คน