ย้อนไปเมื่อปี 2557 หลังจากบมจ.อี ฟอร์ แอล เอ็ม หรือ EFORL ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์ กรุ๊ป (WCIG) เจ้าของสถานบริการความงามภายใต้แบรนด์"วุฒิศักดิ์ คลินิก" ด้วยมูลค่า 3,500 ล้านบาท โดยหวังจะชิงเค็กธุรกิจตลาดศัลยกรรมที่มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท รวมถึงการ “ต่อยอด” ธุรกิจหลักจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ของ EFORL ให้กลับมาเติบโต
แต่กลับสร้างความผิดหวัง ฉุดให้ EFORL พลอยย่ำแย่ไปด้วย บริษัทฯต้องประสบภาวะขาดทุนตั้งแต่ปี 59 โดยขาดทุนสุทธิปี 59 จำนวน 614 ล้านบาท , ปี 60 ขาดทุน 1,163 ล้านบาท ปี 61 ขาดทุน 166 ล้านบาท และปี 62 ขาดทุนสุทธิ 273 ล้านบาท และส่งผลให้ขาดทุนสะสมของบริษัทเพิ่มจากที่ติดลบ 433 ล้านบาทในปี 59 มาเป็น ติดลบ 2,036 ในสิ้นปี 62 จนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย "C" (Caution) ตั้งแต่ 17 ส.ค. 61 เพื่อเตือนผู้ลงทุนให้ระมัดระวังการลงทุน
"วิชัย ทองแตง" เข้าถือหุ้นใหญ่
โดยปัญหาหลักที่กระทบกับ EFORL คือ"วุฒิศักดิ์ คลินิก" ออกตั๋วแลกเงิน (B/E) หลายฉบับวงเงินหลายร้อยล้านบาท และเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องจนต้องตามมาด้วยการเพิ่มทุนหลายครั้ง และการเพิ่มทุนที่ส่งผลต่อโครงสร้างผู้ถือหุ้น EFORL อย่างมีนัยสำคัญ ก็คือกลางปี 61 หลังที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อ 5 เม.ย. 61 ได้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 21 พ.ค.61 พิจารณาอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจาก 2,810 ล้านหุ้น จากเดิม 1,600 ล้านหุ้น โดยการออกหุ้นเพิ่มทุน 16,100 ล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 0.075 บาท
เสนอขายให้กับบุคลเฉพาะเจาะจง (PP) 5 ราย ได้แก่ นายวิชัย ทองแตง, นายชาคริต ศึกษากิจ, นายเกรียงไกร เธียรนุกูล, นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล และนายเกรียงไกร ฏิระวณิชย์กุล ที่ราคาหุ้นละ 0.04 บาทต่อหุ้น เป็นมูลค่ารวม 644.33 ล้านบาท
ทำให้ “วิชัย ทองแตง” กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 22.68% มีอำนาจเข้ามาบริหารอย่างเต็มที่ และกลุ่มซึ่งประกอบด้วยนายชาคริต ศึกษากิจ ถือหุ้น 12.42%, นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ถือหุ้น 7.45%, นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล ถือหุ้น 4.97%, และนายศุภชัย วัฒนาสุวิสุทธิ์ ลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือ 3.65% จากเดิม 7.30%, นายโกศล วรฤทธินภา ถือหุ้น 3.21% จากเดิม 6.41%, นายเกรียงไกร ฏิระวณิชย์กุล ถือหุ้น 2.48% เป็นต้น
ข่าวเกี่ยวข้อง
"วุฒิศักดิ์ คลินิก" ยื่นศาลฯขอฟื้นฟูกิจการ หลังแบกหนี้กว่า 10 ล้านบาท
เส้นทางความงาม “วุฒิศักดิ์ คลินิก” ยื่นล้มละลาย เพราะ “หนี้” รอไม่ได้
ส่องการเงิน "วุฒิศักดิ์ คลินิก" ก่อนยื่นศาลล้มละลาย ขอฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ดี กลุ่มนายวิชัยถูกกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ขายหุ้นออกในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ได้รับการจัดสรรหุ้น เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจให้นักลงทุน ( ปัจจุบันนายวิชัย ถือหุ้น EFORL 19.76% )
นายปรีชา นันท์นฤมิต ประธานกรรมการ EFORL ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์" (ช่วงกลางปี 62 ) ว่าหลังจากนายวิชัย ทองแตง เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นแกนหลักในการเข้ามาร่วมบริหารกิจการ ได้มุ่งเน้นไปที่กิจการด้านความงามที่อยู่ภายใต้แบรนด์ "วุฒิศักดิ์ คลินิก" มีนโยบายต้องการให้ธุรกิจด้านความงามกลับมา "เทิร์นอะราวด์" ได้อีกครั้ง โดยได้ดึงมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาบริหาร เพื่อต่อยอดขยายสาขารูปแบบแฟรนไชส์วุฒิศักดิ์ คลินิก ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงแผนขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ควบคู่ไปกับพัฒนาแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น
"จากการปรับโครงสร้างหนี้และธุรกิจมาตั้งแต่ปี 61 ทำให้บริษัท ฯ มีความมั่นใจว่าภายในปี 63 EFORL จะเข้าสู่จุดคุ้มทุนได้สำเร็จ ภายใต้แผนการดำเนินงานที่วางไว้ ประกอบด้วยการเพิ่มสาขา"วุฒิศักดิ์ คลินิก" ในจุดที่มีศักยภาพ และออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ " ประธานกรรมการ EFORL กล่าว
"วุฒิศักดิ์ คลีนิก" มีสาขาปี 59 จำนวน 133 สาขา (รวมสาขาต่างประเทศ 12 สาขา) มาปี 60 เหลือ 116 สาขารวมสาขาต่างประเทศ 3 สาขา ) ก่อนที่ปัจจุบันจะเหลือเพียง 16 สาขา โดยได้ทยอยปิดเป็นจำนวนมากในช่วงสูญญากาศ
ส่งสัญญาณเลิกธุรกิจความงาม
อย่างไรก็ดี สัญญาณ"เลิกธุรกิจด้านความงาม" ให้เหลือเฉพาะธุรกิจหลักที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของ EFORL เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นหลังจากนั้น โดยในรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 62 ซึ่งแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯไปเมื่อต้นมี.ค.63
"ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า EFORL มีรายได้จากการขายและบริการปี 62 จำนวน 1,921ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน7% จำนวนนี้มาจากรายได้จากธุรกิจการขายและให้บริการด้านความงาม 123 ล้านบาท ลดลง 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานของ บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (“วุฒิศักดิ์ คลินิก”) ที่ถือหุ้นโดยบริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทย่อย) (WCIH) และบริษัท สยามสเนล จำกัด (บริษัทย่อย) มีรายได้จากการขายและบริการปี 2562 จำนวน 185 ล้านบาท ลดลง 20% จากปีก่อนหน้า และเป็นการขาดทุนขั้นต้นสำหรับธุรกิจบริการด้านความงามในปี 2562 จำนวน 43 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 88% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยรายได้ของธุรกิจบริการความงามต่อรายได้รวมเท่ากับ 9.6%
สาเหตุหลักเกิดจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจความงาม โดยผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมจากการให้บริการดูแลผิวพรรณอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นเสริมความงามโดยการทำศัลยกรรม เพื่อให้เห็นผลเร็วขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการรายใหม่มาเป็นคู่แข่งขันจำนวนมาก โดยมีสงครามราคาเป็นเครื่องมือในการแข่งขัน โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มขยายธุรกิจโดยการเปิดศูนย์ผิวพรรณ ศูนย์ศัลยกรรมความงาม และศูนย์ anti-aging ส่งผลกระทบให้สาขาบางสาขาของแฟรนไชส์และบริษัทเองต้องปิดตัวลงจากผลการดำเนินงานของธุรกิจบริการด้านความงามที่ขาดทุน และวิธีการทำธุรกิจลักษณะแฟรนไชส์ส่งผลกระทบต่อการประเมินมูลค่าธุรกิจที่มีมูลค่าลดลง เนื่องจากมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีทำให้บริษัทต้องบันทึกการด้อยค่าสินทรัพย์ในส่วนของเครื่องหมายการค้าจำนวน 456 ล้านบาท ทำให้งบการเงินรวมมีผลขาดทุนสำหรับปี 2562 จำนวน 591 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น115% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน
ที่สำคัญคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ระบุอีกว่า บริษัทฯอยู่ระหว่างดำเนินการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจความงาม โดยพยายามลดสัดส่วนการถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจความงาม เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อภาพรวมของบริษัท ซึ่งบริษัทมีแผนซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแห่งหนึ่งเพื่อใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องธุรกิจหลักของบริษัท โดยจะชำระราคาทรัพย์สินดังกล่าวด้วยหุ้นของ "WCIH " ที่บริษัทถืออยู่ 101,849,993 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 56 ของจำนวนหุ้น WCIH ทั้งหมด ทำให้ WCIH พ้นสภาพจากการเป็นบริษัทย่อย
จากข้อมูลข้างต้น จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไม EFORL ที่มี "วิชัย ทองแตง"ถือหุ้นใหญ่ ถึงตัดสินใจเลิกทำธุรกิจความงาม โดยมีแผนที่จะสว๊อปหุ้นที่ถือทั้งหมดใน WCIH แลกกับการซื้อที่ดิน สู่เป้าหมายการดำเนินเฉพาะธุรกิจหลักเท่านั้น และไม่ต้องสงสัยที่ว่า "วุฒิศักดิ์ คลีนิก" ซึ่งมีหนี้สินกว่า 10 ล้านบาท (เท่านั้น ) ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ