ธ.ก.ส. รุกงานประกันภัยด้านการเกษตร เปิด "โครงการประกันภัยโคเนื้อ" เพื่อช่วยเกษตรกรลดความเสี่ยงจากการตายของโคเนื้อที่เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ค่าเบี้ยประกันภัย 400 บาท/ตัว วงเงินคุ้มครอง 30,000 บาท/ตัว ระยะเวลาคุ้มครอง 6 เดือน เริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ตั้งแต่บัดนี้ ที่ธ.ก.ส. ทุกสาขา
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการ ประกันภัยโคเนื้อ เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ที่เกิดการตายของโคเนื้อที่เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ให้สามารถพยุงตัวได้และมีทุนเหลือเพียงพอต่อการเริ่มต้นใหม่ และเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันและส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจัดการความเสี่ยงด้านการผลิต โดยเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอเอาประกันภัยโคเนื้อได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
ทั้งนี้ อัตราค่าเบี้ยประกันภัยตัวละ 400 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแล้ว) โดยให้ความคุ้มครอง การตายจากการเจ็บป่วยของโคเนื้อ ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว และการตายจากอุบัติเหตุ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม ดินถล่ม พายุ และแผ่นดินไหว ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว ระยะเวลาคุ้มครองสิ้นสุดเมื่อส่งขายคอกกลางหรือ 6 เดือนนับจากวันขอเอาประกันภัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตรวจสอบสิทธิ์ www.เยียวยาเกษตรกร.com ธ.ก.ส.โอนเงินรอบ 3 วันนี้ 1 ล้านราย
ลั่น www.เยียวยาเกษตรกร.com ตรวจสอบสถานะ จ่ายครบ 3 เดือนแล้ว “เยียวยาเกษตรกร”
สำหรับเงื่อนไขผู้เอาประกันภัย ต้องเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ และได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมปศุสัตว์ ด้านโคเนื้อที่ขอเอาประกันภัยต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีความพิการที่มีผลกับสุขภาวะ และไม่เป็นโรคเรื้อรัง ไม่อยู่ระหว่างการรักษาพยาบาล มีอายุไม่เกิน 36 เดือน ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์
นอกจากนั้นต้องมีการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ (NID คือ การเขียนที่ใบหู / RFID คือ การฝังชิฟที่ใบหู) มีบันทึกประวัติถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย และโรคคอบวม (Hemorrhagic Septicemia) มาแล้ว ไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่ขอเอาประกันภัย โดยเกษตรกรผู้เอาประกันภัยจะต้องแสดงเอกสารยืนยันตัวตนของโคเนื้อ ระยะเวลารอคอย 30 วัน นับจากวันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับ
“ธ.ก.ส. และ กรมปศุสัตว์ มีนโยบายในการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง รวมถึงกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทยและช่วยฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการด้านตลาดผลิตผลการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์ สำหรับจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ”