จากรายงานการซื้อขายรายใหญ่ (Big lot) ช่วงเช้านี้ (23 ก.ค.) ซึ่งพบว่ามีการทำรายการซื้อขายหุ้นของ 2 บริษัทโรงไฟฟ้าในช่วงระหว่างคืนที่ผ่านมา คือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) โดยเป็นการซื้อขาย big lot หุ้น BGRIM จำนวน 2 รายการ ที่ราคาเฉลี่ย 50.80 บาท คิดเป็นมูลค่า 3.45 พันล้านบาท และซื้อขายหุ้น GULF จำนวน 2 รายการ ที่ราคาเฉลี่ย 35.15 บาท คิดเป็นมูลค่า 6.18 พันล้านบาท
ต่อเรื่องนี้นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ "เอดีบี" ขายหุ้น GULFออกบางส่วนว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับทางเอดีบีในการทำรายการครั้งนี้ อย่างไรก็ตามในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มองว่าการขายหุ้นเป็นสิทธิของผู้ถือหุ้นในการกำหนดกลยุทธ์ด้านการลงทุน
ทั้งนี้มั่นใจว่าการขายครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการประเมินปัจจัยด้านพื้นฐานของ GULF เนื่องจากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ กอปรกับบริษัทยังคงเดินหน้าขยายกำลังการผลิตตามแผน รวมถึงการขยายธุรกิจเข้าสู่การประกอบกิจการสาธารณูปโภคประเภทอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังมั่นใจว่าผลประกอบการของบริษัทฯ ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีต่อจากนี้
"เรายังไม่มีการพูดคุยกับทาง ADB ถึงการขายหุ้นครั้งนี้ แต่เชื่อว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐาน เพราะทาง GULF ยังไม่มีปัจจัยเชิงลบ ด้านผลประกอบการของบริษัทฯ มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่องจากการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า และการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง" นายสารัชถ์ กล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง
ด้านนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่าการที่เอดีบี เทขายหุ้นออกมา 68 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.61% ของหุ้น BGRIM จากที่เอดีบีถือหุ้นทั้งหมด 123 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.72% ของหุ้น BGRIM เป็นนโยบายภายในของเอดีบีซึ่งเป็นสิทธิของผู้ถือหุ้นเอง ขณะที่บริษัทไม่ได้ทราบเรื่องดังกล่าว
"การขายหุ้นของเอดีบีไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินงานของ BGRIM เนื่องจากเอดีบีเป็นผู้ถือหุ้นในลักษณะ passive investor พื้นฐานของ BGRIM ยังคงมีความแข็งแกร่ง พร้อมกันนี้ เดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากปัจจุบันมีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 47 โครงการรวม 3,019 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาอีกหลายโครงการรวมเป็นกำลังการผลิตทั้งหมด 3,547 เมกะวัตต์ "นางปรียนาถ กล่าวและว่า
บริษัทคงมุ่งเน้นการลงทุนอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ควบคู่ไปกับเป้าหมายเติบโตไปสู่การมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 65 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุนหลายโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การควบรวมกิจการ (M&A) ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านรวมโอกาสไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้าพลังงานลมในหลายประเทศรวม 300-400 เมกะวัตต์ และ โครงการโรงไฟฟ้าจากก๊าซ LNG ในเวียดนามด้วยโอกาสไม่ต่ำกว่า 3,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ในปีนี้เองยังเชื่อว่ายังผลการดำเนินงานสามารถเติบโตในกรอบ 10-15% ด้วยการขยายกำลังการผลิตและขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโปรแกรมการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและการบริหารค่าใช้จ่าย