ยังคงมีการรายงานผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด -19อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงข้อมูลสถิติตลาดทุนที่สำคัญไตรมาส 2 ปี 2563 โดยเฉพาะมูลค่าการเสนอขายตราสารทุนและตราสารหนี้ ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหนีไม่พ้นจากไวรัสโควิดที่ในช่วงไตรมาส 2 มีมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ทำให้การเสนอขายหุ้นและตราสารหนี้ต้องชะลอออกไปก่อน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ส่งผลต่อการลงทุนโดยรวมให้ลดลงตาม
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 บรรยากาศการเสนอขายหุ้นกู้จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เริ่มกลับมาเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป จากที่ก่อนหน้านี้ชะลอออกในช่วงไตรมาส 2 โดยบริษัทที่ออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่ยังมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาว เพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับสถานการณ์ที่อาจไม่แน่นอน ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนอยู่ที่ 800,000 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 850,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มองว่า การเสนอขายหุ้นกู้ยังเป็นที่น่าสนใจสำหรับบริษัทเอกชนที่ต้องการระดมทุนเพื่อสำรองเงินไว้ในอนาคต หรือเพื่อขยายกิจการ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เช่น ธุรกิจซื้อหนี้เสีย พลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้า ขณะที่ บริษัทขนาดกลางที่มีการเสนอขาย แต่มีความเสี่ยง ก็ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ทำให้ต้องกลับไปใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินแทน สะท้อนจากยอดขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปรับตัวขึ้นสูง
“ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มีการออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่มากขึ้น และยังมีแผนที่จะออกอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการระดมทุนและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับตํ่า เช่น ปตท. ที่ไม่ออกมาประมาณ 3 ปี กลับมาออกอีกครั้งมูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท และยังมีบริษัทขนาดใหญ่อีกหลายบริษัทที่จะทยอยออกอย่างต่อเนื่อง”
ด้านนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บรรยากาศการเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนเป็นครั้งแรก(ไอพีโอ) จะกลับมาคึกคักในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากในช่วงปลายปีจะมีการขายไอพีโอในจำนวนที่มากเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มูลค่าเริ่มใกล้เคียงกับปี 2561 แต่อาจจะไม่เท่ากับปี 2562 ที่เป็น All Time Hight อีกทั้งมองว่าหุ้นไอพีโอยังเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เห็นได้จากหุ้นไอพีโอตั้งแต่ต้นปีจำนวน 4 บริษัทที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ขณะที่ภาวะตลาดหุ้นที่ยังมีความผันผวน มองว่า ไม่ใช่ประเด็นหลักในการตัดสินใจเข้าซื้อขายหุ้นไอพีโอของบริษัทจำกัดมหาชน(บมจ.) เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอีก 2 ข้อ คือ ความพร้อมของข้อมูล โดยเฉพาะงบการเงินที่ส่วนใหญ่จะใช้งบของไตรมาส 2 หากมีข้อผิดพลาด อาจจะมีการเลื่อนออกไปก่อน ซึ่งจากข้อมูลการเสนอขายจะมีความหนาแน่นในช่วงไตรมาส 3 และความต้องการใช้เงินของบจ. ถึงแม้จะมีสถานการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น แต่ธุรกิจยังคงต้องดำเนินต่อ บจ.ก็ยังคงต้องการเสริมสภาพคล่องด้วยการเสนอขายไอพีโอ โดยที่ไม่ต้องอิงกับภาวะตลาดก็ได้หากมีความพร้อม
“ตลท.ได้ให้คำปรึกษากับบมจ.ที่จะเสนอขายไอพีโอและหารือกับทาง ก.ล.ต.อย่างต่อเนื่องในการที่จะเตรียมความพร้อมให้กับบมจ. ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ทุกอย่างต้องชะงักลง ส่วนใหญ่มาจากผลกระทบจากโควิดที่ทำให้เสนอขายไม่ได้ เพราะต้องมีการทำโรดโชว์ แต่ยังมีการให้คำปรึกษาอย่างสมํ่าเสมอ ถึงแม้จะไม่ได้พบปะแบบเห็นหน้า ก็จะใช้วิธีออนไลน์แทน ส่วนความน่าสนใจของหุ้นไอพีโอนั้น มองว่าขึ้นอยู่กับธุรกิจและบจ.ที่จะเข้ามาเสนอขาย ที่ผ่านมาก็เห็นว่าได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนได้ค่อนข้างดี”นายแมนพงศ์กล่าว
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563