หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงิน ในนามรัฐบาลไทยจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB) วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 48,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจ กระทรวงการการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) พ.ศ. 2563
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สบน.ยังมีแผนที่จะกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มเติมอีก เพื่อนำไปใช้ในการ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 เนื่องจากยังมีกรอบการกู้ที่สามารถกู้ได้จากพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน อยู่แล้วและการกู้จากต่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการกู้ในประเทศ
ขณะเดียวกันการกู้ในประเทศมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบได้ แม้สภาพคล่องในประเทศจะมีอยู่มาก แต่ก็ควรเก็บเม็ดเงินส่วนหนึ่งไว้ให้กับภาคเอกชนได้ใช้เพื่อลงทุน หรือขยายกิจการต่างๆ ด้วย ซึ่งหากรัฐดึงสภาพคล่องดังกล่างออกมาใช้หมด ก็อาจส่งผลกระทบกับภาคเอกชนได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.ไฟเขียว กู้เงินเพิ่ม 2.1 แสนล้าน โปะงบปี 63
"กฤษฎา จีนะวิจารณะ" ผงาดนั่งปลัดคลังคนใหม่
เช็กที่นี่ตรวจ "เครดิตบูโร" ทั่วไทยได้ที่ไหนบ้าง
“เรามีทางเลือกหลายทาง เพราะตลาดในประเทศต้องดูด้วยว่า สภาพคล่องมีจริงไหม อาจจะมีเยอะจริง แต่ภาครัฐจะไปใช้สภาพคล่องส่วนนั้นทั้งหมดไม่ได้ ต้องเผื่อไว้ให้กับภาคเอกชนด้วย ซึ่งสบน.ระวังเรื่องนี้อย่างมาก และการกู้นั้นดอกเบี้ยจะวิ่งขึ้นเยอะได้ ถ้ารัฐเข้าไปเล่นเยอะ ฉะนั้นเราต้องเฉลี่ยๆด้วย”
ส่วนแผนการกู้ต่างประเทศเพิ่มเติมว่า จะเมื่อไรและวงเงินเท่าใดนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยต้องคำนึงถึงช่วงจังหวะเวลา แหล่งเงินกู้ระยะเวลาการกู้ต่างๆ ให้เหมาะสมด้วย เพื่อไม่ให้กดดันด้านอัตราดอกเบี้ยหรือกระทบกับภาระหนี้ในประเทศที่ต้องดูให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้ครบดีลพร้อมๆ กันช่วงใดช่วงหนึ่งมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม การกู้ต่างประเทศในช่วงนี้จะเป็นผลดี เพราะนอกจากอัตราดอกเบี้ยจะต่ำใกล้เคียงกับการกู้ในประเทศแล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งสบน.มีการบริหารจัดการเงินกู้ ด้วยการใช้เครื่องมือการกู้ที่หลากหลายมาโดยตลอด
“ที่ผ่านมา กู้ระยะสั้นค่อนข้างเยอะ เพราะกู้ระยะยาวในส่วนของพันธบัตรรัฐบาล ยังไม่กลับมาเต็มที่และเราไม่สามารถจะเพิ่มปริมาณพันธบัตรรัฐบาลในตลาดได้มากอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้ตลาดมีความผันผวน ซึ่งต้องระวังเรื่องนั้นด้วย ทำให้ที่ผ่านมา ต้องกู้ระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นต้องสลับไปกู้ยาวด้วย ไม่ได้มีอะไรผิดแปลก และดอกเบี้ยไม่ได้แพงด้วย”
ส่วนความคืบหน้าแผนการกู้เงินจาก ADB วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐคาดว่า จะเซ็นสัญญาดังกล่าวได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เมื่อเรียบร้อยแล้วจะทยอยนำเงินกู้มาใช้ โดยดูความจำเป็นของโครงการที่ต้องนำมาใช้ และช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยจะค่อยๆ ทยอยเบิกจ่าย ไม่ใช่การนำเงินมากองไว้แน่นอน
นางแพตริเซียยืนยันว่า การกู้ทั้งหมดนั้นยังอยู่ในแผนที่วางไว้ ยังไม่เกินกรอบที่กำหนด 1 ล้านล้านบาท โดยปีงบ 2563 จะใช้เงินกู้ 600,000 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่ถึงกรอบที่ตั้งไว้ ขณะนี้กู้ไปเพียง 300,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 400,000 ล้านบาทที่จะใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น โครงการก็ยังไม่ได้เดินหน้าได้เท่าที่คาดการณ์ไว้ ฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาการกู้เกินวงเงินที่กำหนดแน่นอน
สำหรับสถานการณ์หนี้ในปัจจุบันของไทย ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2563 พบว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 7.43 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9 แสนล้านบาทจากสิ้นปีก่อนที่ 6.95 ล้านล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 41.7% เพิ่มเป็น 44.76% โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมาใช้จ่ายเยียวยาดูแลประชาชน และฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ รวมถึงยังมีการกู้เพื่อใช้บริหารสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี
ทั้งนี้หากจำแนกที่มาของหนี้ทจะพบว่า 85.53% ของหนี้ทั้งหมด หรือ 6.35 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ของรัฐบาล ที่เหลือเป็นหนี้จากรัฐวิสาหกิจ 7.55 แสนล้านบาท หรือ 10.16% หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกรรมในภาคการเงิน แต่รัฐคํ้าประกัน 3.12 แสนล้านบาท หรือ 4.20% และหนี้ของหน่วยงานรัฐ 7.8 พันล้านบาท หรือ 0.11% ซึ่งจำนวนหนี้ทั้งหมดนี้ เป็นหนี้ระยะยาว 96.71% และหนี้ระยะสั้น 3.29%
และหากแยกสัดส่วนหนี้ในประเทศและต่างประเทศพบว่าหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้จากในประเทศถึง 7.29 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 98.10% ของหนี้ทั้งหมด และเป็นหนี้ต่างประเทศเพียง 1.41 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.90% เท่านั้น แต่ตัวเลขหนี้ต่างประเทศดังกล่าวยังไม่ได้รวมหนี้ที่กำลังกู้จาก ADB แต่อย่างใด
โดยปัจจุบันหนี้ต่างประเทศ แหล่งเงินกู้ใหญ่ที่สุดคือมาจาก องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) วงเงินรวม 1,603.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยจากธนาคารโลกวงเงิน 881.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจาก ADB วงเงิน 247.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่ไทยจะกู้เป็นสกุลเยน ตามมาด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,600 วันที่ 13 - 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563