นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า บ่ายวันนี้ FETCO เตรียมประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเสนอขับเคลื่อนตลาดทุนไทยต่อ รมว.คลัง โดยเบื้องต้นประเด็นที่จะนำเสนอ ได้แก่
1.การส่งเสริมและการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการออมในระยะยาวมากขึ้น เนื่องจากในช่วงวิกฤติโควิด-19 เห็นได้ว่าประชาชนมีการออมเงินน้อยมาก หากใช้มาตรการด้านภาษีก็น่าจะช่วยให้เกิดการออมเพิ่มขึ้นได้ พร้อมกันนี้ FETCO จะเสนอให้มีการต่ออายุกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ไปอีก 10 ปี หลังจากสิทธิประโยชน์ที่ให้เป็นพิเศษหมดอายุไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.63 และเสนอให้ลดระยะเวลาการถือครอง จาก 10 ปี เหลือ 7 ปี เนื่องด้วยที่ผ่านมามีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนค่อนข้างน้อยมาก เชื่อว่าระดับ 7 ปีน่าจะมีความเหมาะสม ส่งผลให้มีเงินลงทุนเข้ามามากขึ้น รวมทั้งได้เสนอการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินปันผลหากถือครองหุ้นในระยะยาว เหมือนกับประเทศจีน หากมีการถือครองหุ้นในระยะ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินปันผลหรือไม่เสียภาษีเงินปันผล
2.ยกระดับสถานะตลาดทุนไทยสู่ระดับภูมิภาค เปิดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทยได้ เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องไปดำเนินการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย อีกทั้งการช่วยเหลือ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนได้มากขึ้น โดยภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุน
นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐเข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนไทย เป็นแหล่งระดมทุนเพิ่มมากขึ้น และมีการประชุมร่วมกันระหว่างภาคตลาดทุนและภาครัฐให้มากขึ้น รวมถึงผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนบำเน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวอยู่ในช่วงของการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งหากมีการเร่งดำเนินการตั้งแต่วันนี้คาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายฯได้ เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกิดการออมมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังเสนอเรื่องให้สมาคมต่างๆ สามารถเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยได้ จากเดิมที่สามารถลงทุนได้แต่เงินฝากกับทางธนาคารเท่านั้น
"ปัจจุบันตัวเลขการลงทุนในตลาดหุ้นไทย มีไม่ถึง 2 ล้านคน ภาครัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้เกิดการออมมากขึ้น มองว่าหากไปถึงระดับ 10 ล้านคน ก็น่าจะเป็นระดับที่ไม่ต้องกระตุ้นแล้ว"นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันได้ปรับตัวลดลงไป 15.9% โดยมองว่าตลาดฯ ยัง Underperform อยู่ แม้ตลาดหุ้นในประเทศอื่นๆ อย่าง จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นบวกแล้ว เป็นผลมาจากนักลงทุนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง รวมถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังพึ่งพิงการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลักอยู่ แม้ว่าปัจจุบันค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอ่อนค่าราว 5% ทำให้ค่าเงินบาทในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบหรือเป็นอุสรรคต่อการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของทีมเศรษฐกิจใหม่
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมตลาดหุ้นไทย แม้ว่าจะติดลบแต่ก็ยังติดลบน้อยกว่าตลาดหุ้นในประเทศเวียดนาม, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น มองว่าหากไม่มีปัจจัยเข้ามากดดันเพิ่มเติม เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวขึ้นไปต่อได้