จากวิกฤตการณ์ Covid-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกช่วงนี้ ส่งผลกระทบการเศรษฐกิจระดับมหภาคแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข่าวคราวของการประกาศขาดทุนของภาคธุรกิจต่างๆ ไปจนถึงการยื่นล้มละลายและปิดกิจการของธุรกิจระดับยักษ์กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้แทบจะรายวัน สินค้า บริการ ไปขนถึงกิจการถูกนำมาโละขายในราคาขาดทุนอย่างน่าใจหาย
แต่จากเหตุการณ์ข้างต้นกลับกลายเป็นโอกาสของใครอีกหลายๆ คนที่ “ได้รับผลกระทบน้อย” หรือแม้แต่ “มีกระแสเงินสดเหลือๆ ในมือ” ที่สามารถใช้โอกาสนี้ในการกว้านซื้อ สินค้าและบริการที่กำลังแห่ลดราคาแบบไม่เกรงใจใคร
สินค้าอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันอย่างสินค้าแบรนด์เนมมือสอง เองก็ใช้กระแสนี้ในการโปรโมทและลดราคาชนิดกระหน่ำช็อคโลกไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือนกรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีร้านค้าขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองเจ้าดังได้เช่าพื้นที่ช็อปปิ้งมอลล์ใจกลางเมืองเพื่อขายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง ทั้งพวกหมวก, เข็มขัดม กระเป๋าถือ, กระเป๋าสตางค์ ลดกระหน่ำ
ตัวอย่างภาคจากทางเพจ Moppet Branname (ภาพจาก facebook.com/moppetbrandnameth)
อนึ่ง ในปัจจุบันมูลค่าของตลาดสินค้ามือสองนั้น แม้บางที่จะมีการติดป้ายขายลดราคากันไปแล้ว 90% แต่จากสถิติทั่วโลก จะเห็นว่ามูลค่าของสินค้าและตลาดนั้นยังคงมีมูลค่ามหาศาล
จากกราฟจะเห็นว่าแนวโน้มการเติบโตของมูลค่าตลาดมือสองนั้นมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 โดยคาดการณ์ไว้ว่าราคาของตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองนั้นอาจมีมูลค่าสูงถึง 8.7 พันล้านยูโร
ปัญหาที่เป็นเหมือนเงาตามตัวสินค้าแบรนด์เนมมือสอง
ในขณะเดียวกันปัญหาสินค้าปลอม เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่มีคู่กับสินค้ามือสองมาช้านาน แต่สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมนี้อย่างมหาศาล ดังเช่นวีรกรรมของหญิงไทยคนหนึ่งที่ใช้วิธีนำสินค้าแบรนด์เนมจริงๆ ออกมา
หลังจากนั้นจึงนำสินค้าปลอมที่รายละเอียดเหมือนของจริงชนิดพนักงานในช็อปยังแยกไม่ออก ทำให้มีตำหนิเล็กน้อยและนำสินค้านี้ไปติดต่อเคลมเอาสินค้าตัวจริงอีกชิ้นออกมาก่อนจะนำไปวางขายยังร้านค้าออนไลน์ โดยเธอก่อเหตุลักษณะนี้ซ้ำๆ ในหลากหลายพื้นที่ ทั้งในสหรัฐอเมริกาหรือแม้แต่ในโซนเอเชียเอง โดยมีช็อปสินค้าแบรนด์เนมตกเป็นเหยื่อมากถึง 60 สาขา หลากหลายแบรนด์คละกัน สร้างความเสียหายรวมๆ กว่า £650,000 และฉาวดังไปทั่วโลก
บทความย้อนหลัง
การเงินกับโลกแห่งอนาคตที่กำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป
บล็อกเชนกับสิทธิผู้บริโภคในโลกโฆษณา
แล้วบล็อกเชนจะช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้อย่างไร?
อันที่จริงแล้วในโลกไอทีนั้นมีการตื่นตัวในเรื่องการให้เครดิตทรัพย์สินทางปัญญาในโลกออนไลน์พอสมควร เมื่อไม่กี่ปีมานี้เราจะเริ่มเห็นความพยามของผู้คนที่พยายามนำเทคโนโลยีต่างๆ มาเป็นตัวช่วยในการกำหนด “มูลค่า” ของสิ่งของที่ไม่มีตัวตนมากมาย และสำหรับในวงการบล็อกเชนเองสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์หรือตัวอย่างที่ไม่อาจมองข้ามนั่นก็คือ “การกำเนิดขึ้นของเกม CryptoKitties” ที่ถูกพัฒนาบนระบบ ERC-721 นั่นเอง
เยี่ยมชมเว็บไซต์ของ Cryptokitties ได้ที่ http://www.cryptokitties.co/
โดยเกมนี้กำเนิดมาด้วยแนวคิดที่สุดแสนจะเรียบง่าย การเล่นก็ไม่มีอะไรมากเพียงผู้เล่นทำการ “ซื้อ” แมวแบบที่ตัวเองอยากได้และนำมาผสมพันธุ์เรื่อยๆ เพื่อให้กำเนิดแมวพันธุกรรมที่ซับซ้อนและมีความหายาก ยิ่งตัวไหนหายากก็จะยิ่งราคาแพงไปด้วย แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือแมวทุกตัวและไอเท็มทุกอย่างในเกมนี้ “ต้องซื้อด้วยเหรียญ ETH” เท่านั้น!
นอกจากนี้แมวทุกตัวที่ถือกำเนิดมานั้นจะมีการบันทึกประวัติอย่างละเอียดทั้งหมด ไม่ว่าจะกำเนิดขึ้นมาด้วยพ่อแม่ตัวใด ปู่ย่าเป็นใคร และแมวตัวนั้นๆ กำเนิดขึ้นใน Transaction ที่เท่าไหร่ แมวส่งต่อมาจากใครบ้าง ใครเป็นเจ้าของก็ดูง่ายๆ เพียงใครคือโทเค็นของแมวนั้นๆ อยู่ในวอลเล็ตของตัวเอง (สามารถเช็คได้จากตัวเว็บ Cryptokitties เองหรือแม้แต่เช็คจาก MyEtherscan ซึ่งเป็นเว็บไซต์ตรวจสอบธุรกรรมของ Ethereum โดยตรง)
เป็นแนวคิดการสร้างมูลค่าให้สิ่งของที่มีตัวตนอยู่เพียงในโลกออนไลน์ให้มีมูลค่าขึ้นมาได้ แม้ว่าเกมดังที่บรรยายไปข้างต้นจะดูไร้สาระในสายตาท่านผู้อ่านหลายๆ คน แต่เชื่อหรือไม่ว่าเกมนี้สามารถทำเงินได้ทะลุหลักพันล้านบาทเลยทีเดียว
นำแนวคิดนี้มาประยุกต์กับสินค้าแบรนด์เนมยังไงได้บ้าง?
ด้วยประสิทธิภาพและระบบการทำงานของ ERC-721 เราจะสามารถสร้างโทเค็นที่เปรียบเสมือนเป็น “หัวใจ” ของสิ้นค้าชิ้นหนึ่งขึ้นมา นึกภาพว่าคุณผู้อ่านเป็นเจ้าของกระเป๋ายี่ห้อนึงที่ถูกสั่งผลิตออกมาเป็นพิเศษมีเพียง 100 ใบในโลก แล้วคุณจะทำอย่างไรให้คนมั่นใจได้ว่า “สินค้าชุดนี้ของคุณมีเพียง 100 ชิ้นจริงๆ” ไม่ว่าใครจะทำใบใหม่ขึ้นมาเลียนแบบก็ไม่มีทางเหมือนได้
- คุณสามารถใช้แอพพลิเคชั่นหรือระบบในการระบุตัวตนที่ถูกพัฒนาขึ้นบนเชนของ ERC-721 เพื่อใช้ในการสร้างรหัสของกระเป๋าแต่ละใบขึ้นโดยเฉพาะ เช่น ใบนี้มีโทรเคนประจำตัวคือ A001 ใบถัดไปคือรหัส A002 … และแต่ละใบจะมีการ์ดที่มีชื่อโทเค็นเดียวกับที่โค้ดในกระเป๋าระบุไว้
- และในการที่จะซื้อหรือขายสินค้าแต่ละใบนั้นลูกค้าจำเป็นที่จะต้องทำการ “ลงทะเบียน” และมีการเปิดวอลเล็ตเป็นของตัวเอง ทุกครั้งที่มีการซื้อขายสำเร็จทางร้านค้าต้องทำการโอนโทเค็นของกระเป๋าใบนั้นๆ ให้กับวอลเล็ตส่วนตัวของเจ้าของกระเป๋า
- หากสินค้าชิ้นนี้ถูกนำไปขายยังร้านค้ามือสองถือส่งต่อ นั่นหมายความว่าผู้ที่นำมาขายต้องมีบัตรประจำตัวของกระเป๋าครบถ้วน รวมไปถึงต้องมีโทเค็นไว้ในครอบครองเท่านั้นจึงจะทำการส่งต่อกระเป๋าหายากใบนั้นไปยังร้านค้าได้
- หากมีการประยุกต์แนวคิดนี้เข้ากับกระเป๋าแบรนด์เนม นั่นหมายความว่าปัญหาซื้อของมือสองแล้วเจอของปลอมแทบจะหมดไปทันที เพราะร้านที่ขายต่อนอกจากจะต้องมีการ์ดที่มีหมายเลขตรงกับในกระเป๋าแล้ว ยังจะต้องมีวอลเล็ตที่ถูกโอนมาจากตัวแทนจำหน่ายต้นขั้วอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบ Transaction ย้อนหลังไปได้หมดว่าใครเคยซื้อกระเป๋าใบนี้มาบ้าง สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้ามือสองไปได้อีกหากสินค้าชิ้นนั้นๆ เคยผ่านมือของคนมีชื่อเสียงมา
ทั้งนี้ในปัจจุบันแนวคิดในการนำเทคโนโลยีตัวนี้เข้ามาประยุกต์กับสินค้าไม่ได้จำกัดเพียงวัตถุในโลกจริงๆ เท่านั้น แต่ต้นกำเนิดที่มาจากแนวคิดการสร้างมูลค่าให้กับทรัพย์สินดิจิทัลทั้งหลายก็กำลังเป็นที่แพร่หลายเช่นกัน ในอนาคตหากมีโปรเจคใดที่สามารถสร้างแอพลิเคชั่นออกมาได้ตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้นและสะดวกสบายมากขึ้น ก็ต้องคอยชมกันต่อไป
ขอบคุณข้อมูล : Bitkub.com