เจ้าของ WEH ทวงหนี้ “ณพ ณรงค์เดช” ข้ามทวีป 2.1 หมื่นล้านบาท

22 ส.ค. 2563 | 03:35 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2564 | 00:01 น.

โต้ข้ามทวีป "นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ WEH ทวงหนี้ “ณพ ณรงค์เด” 2.1 หมื่นล้านบาท ยัน “ณพ”ชนะคดีทั้งหหมด ไม่จริง

หลังจากที่นาย ณพ ณรงค์เดช รองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี จำกัด(มหาชน) หรือ WEH  แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ถึงประเด็นข้อพิพาทเรื่องการซื้อขายหุ้นกับนาย นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัทและเจ้าของหุ้น WEH เดิม โดยอ้างว่า ได้ชำระค่าหุ้นแก่เจ้าของเดิมครบถ้วนแล้ว และคดีความต่างๆ ที่มีการฟ้องร้องกันไปมานั้น ปัจจุบันหลายคดีสิ้นสุดแล้ว และนายณพเป็นฝ่ายชนะทั้งหมดนั้น

 

เจ้าของ WEH ทวงหนี้ “ณพ ณรงค์เดช” ข้ามทวีป 2.1 หมื่นล้านบาท

 

นายนพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ WEH และอยู่ระหว่างการหลบหนีคดี มาตรการ 112 ได้เปิดแถลงข่าวด่วนผ่าน Zoom ข้ามทวีปมาจากฝรั่งเศส เพื่อชี้แจงและตอบโต้กรณีการซื้อขายหุ้น WEH กับนายณพ ณรงค์เดช ทันที  

 

นายนพพรระบุว่า เรื่องการชำระค่าหุ้นนั้น จากมูลค่าซื้อขายที่ตกลงกันไว้ที่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 21,000 ล้านบาท นายณพ โดยบริษัท เคพีเอ็น อีเอ็ช จำกัด ได้ชำระก้อนแรกจำนวน 90.51 ล้านเหรียญ เมื่อเดือนธันวาคม 2558 และก้อนที่ 2 นายณพ โดยบริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสเมนท์ส จำกัด จำนวน 85 ล้านเหรียญ เมื่อเดือนมิถุนายน  2562 ทั้งที่กำหนดชำระจริงคือ เดือนตุลาคม 2558

 

ดังนั้นจึงมีดอกเบี้ย ส่วนยอดคงค้างที่เหลือเมื่อรวมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายที่ศาลสั่งให้นายณพต้องชำระ เนื่องจากแพ้คดีความจะสูงถึง ประมาณ 680 ล้านเหรียญ

 

“จากค่าใช้จ่ายส่วนที่ศาลบังคับแสดงถึงว่า นายณพเป็นฝ่ายแพ้คดี มิใช่เป็นฝ่ายชนะคดีทั้งหมดดังที่กล่าวอ้าง” นายนพพรกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดใจ ณพ ณรงค์เดช “หลายคดียุติแล้ว และผมชนะทั้งหมด”

"ณพ ณรงค์เดช" พลิกฟื้น WEH

บจ.mai กำไรสุทธิครึ่งปีแรก 1,086 ลบ. ลดลง 73.0%

กำไรบจ.ครึ่งปีแรก ทรุด 58.7%

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อนายณพยังค้างชำระหนี้จำนวนมากเช่นนี้ จะบังคับให้ชำระค่าหุ้นได้อย่างไร ผู้ก่อตั้งบริษัท  WEH กล่าวว่า นายณพได้ใช้เทคนิคในการถ่ายเทหุ้นจากประเทศไทยไปยังเกาะฮ่องกง โดยมีการถ่ายเทไปหลายทอดซึ่งปรากฏชื่อ นายเกษม ณรงค์เดช ซึ่งเป็นบิดาของนายณพ เป็นผู้รับหุ้นและโอนต่อไปยังบริษัทโกลเด้น มิวสิค จำกัด ซึ่งมีชื่อ คุณหญิงกอแก้ว บุณยจินดา แม่ยายของนายณพเป็นเจ้าของ

 

ต่อมานายเกษมเป็นผู้ฟ้องร้องกล่าวหานายณพว่า ปลอมลายเซ็นต์ในการรับและโอนหุ้นดังกล่าว ทำให้ตนต้องขออำนาจศาลฮ่องกงมีคำสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นของบริษัทโกลเด้นฯ เพื่อป้องกันการโอนหุ้นหนี ซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากศาลฮ่องกง

 

“ที่นายณพบอกว่า คดีที่ฮ่องกงนั้นศาลยกหมดแล้ว จึงไม่จริง เพราะผมไม่ได้ฟ้องคดีอะไรที่นั่นเลย แต่ไปฟ้องคดีที่ประเทศอังกฤษ เพราะฮ่องกงใช้กฎหมายของอังกฤษ โดยฟ้องในข้อหา conspiracy หรือร่วมกันฉ้อโกงเจ้าหนี้ ซึ่งศาลน่าจะตัดสินช่วงปลายปีหน้า และผมมั่นใจว่าจากหลักฐานที่มีผมชนะแน่นอน ซึ่งระหว่างนี้ศาลกรุณาสั่งห้ามโอนหุ้นขของบริษัทโกลเด้นฯ ในฮ่องกงไว้แล้ว”นายนพพรระบุ

 

นายนพพรยังระบุว่า หากตนชนะคดี ศาลก็จะบังคับให้บริษัท โกลเด้นฯ ขายหุ้นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่ตนตามกฎหมาย

ต่อข้อถามว่า มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนาย วีระวงศ์ จิตต์มิตรภาพ ทนายของนายณพ และ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ ที่ศาลประเทศอังกฤษจริงหรือไม่ นายนพพรกล่าวว่า ฟ้องจริง เนื่องจากนายวีระวงศ์เป็นที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัวของนายณพช่วงระยะเวลาในการโอนหุ้น ขณะเดียวกันก็ยังเป็นกรรมการอิสระของ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ อีกด้วย

 

ดังนั้นเมื่อนายณพใช้เทคนิคโอนหุ้นไปยังนายเกษม ซึ่งทาง ธนาคาร ไทยพาณิย์ ในฐานะเจ้าหนี้กำหนดเงื่อนไขให้ที่ปรึกษากฎหมายต้องออกความเห็น (Legal Opinion) ว่า หุ้นดังกล่าวสามารถโอนได้ และรับรองว่า การโอนหุ้นนั้นโอนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงกำหนดว่า คนออกความเห็นนั้นคือ WC&P(บริษัท วีระวงค์,ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด) ซึ่งเข้าทางณพ เพราะ WC&P นั้นมีนายวีระวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้น “แบบนี้ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า “ชงเองกินเอง” นายนพพรระบุ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากนายณพมาขอเจรจาเพื่อให้ยุติข้อพิพาทต่าง ๆ จะยินดีเจรจาหรือไม่ นายนพพรยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องเจรจา เพียงแค่นายณพปฏิบัติตามคำสั่งของอนุญาโตตุลาการและศาลคือการชำระหนี้ทุกอย่างก็จบ

 

ต่อข้อซักถามถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ WEH ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่าวว่า ขอให้เป็นดุลยพินิจของตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) แต่เมื่อผู้บริหารมีพฤติกรรมขาดธรรมาภิบาลเช่นนี้ ผู้มีอำนาจต้องพิจารณาว่า ควรจะให้นายณพเข้าไปเป็นผู้บริหารบริษัทมหาชนหรือไม่