นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรม(บอร์ด) ธอส. เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีมติขยายเวลาช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้ภายใต้ “มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” ระยะที่ 2 เฉพาะลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือใน 3 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 พักชำระเงินต้น 3 เดือน มาตรการที่ 3 พักชำระเงินต้น 6 เดือน และมาตรการที่ 8 พักชำระเงินต้น 3 เดือน ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาความช่วยเหลือในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ออกไปถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 โดยทั้ง 3 มาตรการที่ธนาคารขยายความช่วยเหลือในครั้งนี้ครอบคลุมจำนวนลูกค้าที่มีสิทธิ์ขยายระยะเวลาเป็นวงเงินสินเชื่อจำนวนกว่า 250,000 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้า 10 มาตรการลูกค้าของธนาคารจากปัญหาโควิด-19 นั้น ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาตรการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 511,110 บัญชี วงเงินสินเชื่อ 430,439 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้ากลุ่มที่เข้ามาตรการที่ 5 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 4 เดือน จำนวน 236,531บัญชี วงเงินสินเชื่อ 179,843 ล้านบาท ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ได้ทยอยครบกำหนดระยะเวลาการใช้มาตรการที่ 5 แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2563 โดยสามารถกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติจำนวน 91,796 บัญชี เงินต้นประมาณ 65,000 ล้านบาท ขณะที่ลูกค้าในมาตรการที่ 5 ที่ยังคงได้รับผลกระทบธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในระยะที่ 2 ผ่านมาตรการที่ 8.5 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยถึง 31 ตุลาคม 2563 โดยล่าสุด ณ วันที่ 22 กันยายน 2563 มีลูกค้าอยู่ในมาตรการที่ 8.5 จำนวน 39,546 บัญชี วงเงินสินเชื่อประมาณ 27,000 ล้านบาท
ส่วนลูกค้าที่เคยเข้ามาตรการที่ 5 แล้วไม่สามารถกลับมาชำระได้ตามปกติและกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีจำนวนประมาณ 9,000 ล้านบาทหรือคิดเป็น 8.5% ของลูกค้าที่เข้ามาตรการ 5 ทั้งหมด ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าอาจจะมีเอ็นพีแอลอยู่ที่ประมาณ 25% ของลูกค้า
"ในกลุ่ม 9,000 ล้านบาท มี 5,000 ล้านบาท ที่ไม่ชำระหนี้เข้ามาเลย และอีก 4,000 ล้านบาท ชำระไม่เต็มงวด ดังนั้น กลุ่ม 4,000 ล้านบาท จะเข้าไปดู แม้ความสามารถไม่เท่าเดิม แต่ตั้งใจ เราจะดูว่า จะปรับระยะเวลาสัญญากู้ได้ให้ผ่อนได้อย่าไร ส่วน 5,000 ล้านบาท จะติดต่อลูกค้าแต่ละราย ว่าเหตุผลอะไรถึงไม่จ่าย"นายฉัตรชัย กล่าว
ส่วนผลการดำเนินงานล่าสุด ณ วันที่ 16 กันยายน 2564 สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่รวมได้ที่ 140,000 ล้านบาท ซึ่งตั้งเป้าช่วงที่เหลืออยู่ของปีนี้ สามารถปล่อยได้เพิ่มเดือนละ 20,000 ล้านบาท จะทำให้สินเชื่อใหม่ในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายใหม่ที่ประเมินหลังเกิดโควิด-19 ที่ 215,000 ล้านบาทได้
"ตอนเกิดโควิด -19 เราประมาณการกำไรไว้ที่ 13,500 ล้านบาท ก็ได้หารือกับสคร. และได้ให้ปรับลดเป้ามาอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ ภายใต้การดูเรื่องตั้งสำรองแล้ว ก็คาดว่ากำไรจะอยู่ 9,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าที่ปรับ แต่ไม่เท่าเมื่อเทียบกับประมาณการ เพราะเราลดดอกเบี้ยหลายส่วน ฉะนั้น ความสามารถในการทำกำไรจะลดลง ส่วนรายได้จากดอกเบี้ยก็ลดลงเช่นกัน เพราะกลุ่มลูกค้าธนาคาเป็นกลุ่มรายได้น้อย และปานกลาง เราก็ลดดอกเบี้ยตลอด"นายฉัตรชัย กล่าว ///