การขยับตัวเขย่า พอร์ตสินเชื่อ ของธนาคาร ออมสิน อันได้ชื่อว่า ธนาคารประชาชน เป็นที่น่าจับตามองและพูดถึงในตลาดอย่างเกรียวกราวในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผู้ประกอบการทั้งรายกลาง รายเล็ก ห้องแถว ต่างประสบปัญหาถ้วนหน้า
ล่าสุดธนาคาร ออมสิน เตรียมหาพันธมิตรร่วมทุน จัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจ รับจำนำทะเบียนรถ ที่มูลค่าตลาด 1.38 แสนล้านบาท ของตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเสริมระบบสินเชื่อบุคคล เติมเม็ดเงินให้ประชาชนที่เข้าถึงสินเชื่ออันยุ่งยากจากระบบธนาคารพาณิชย์ หรือกระทั่งสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ และต้องประสบปัญหาหลักประกันและอัตราดอกเบี้ยสูง
คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาสแรกปีหน้า หลังจากผ่านการอนุมัติแผนจากบอร์ดธนาคาร โดยเป้าหมายหลัก เพื่อดึงดอกเบี้ยในธุรกิจนอนแบงก์ ให้ลงมา 8-10% จากปกติที่นอนแบงก์จะคิดดอกเบี้ย 24-28% เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยให้กับประชาชนรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย
จ่อรัฐขายฝาก
นอกจากนั้น ออมสินยังเตรียมผลักดันโครงการสินเชื่อขายฝาก อีกแผนหนึ่งด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งรูปแบบการขายฝากเดิมนั้น กรณีนำทรัพย์สินที่ดินไปขายฝากไว้ ผู้ขายฝากจะได้รับเงินมา 50% ของวงเงินประเมินทรัพย์สินและมีการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยขายฝากสูงถึง 15% แต่ธนาคารออมสินจะพิจารณาวงเงินสินเชื่อขายฝาก โดยอาจให้ถึง 70% ของราคาประเมินและคิดอัตราดอกเบี้ยตํ่ากว่าตลาดทั่วไป
“เราจะทำโครงการ เพื่อให้คนเข้าถึงสินเชื่อและไม่มีแผนจะนำทรัพย์ที่ขายฝากมาเป็นสินทรัพย์ แม้ไม่มีการไถ่ถอน แต่จะมีระยะเวลา รวมถึงการพิจารณาต่อเวลา และจะช่วยเข้าไปดูแผนธุรกิจ ความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางธุรกิจให้ด้วย ประกอบการพิจารณารับขายฝาก ต้องเข้าใจว่าบางคนมีทรัพย์สิน แต่ไม่สามารถแปลงเป็นเงินเพื่อต่อยอดธุรกิจให้ไปต่อได้เพราะสถาบันการเงินส่วนใหญ่ไม่ต้องการทรัพย์สิน ที่ดินคํ้าประกัน ซึ่งเป็นปัญหายุ่งยากในการจำหน่ายถ่ายโอน”แหล่งข่าวธนาคารออมสินกล่าว
อย่างไรก็ตาม แผนงานโครงการนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานสำคัญในการพิจารณาปลดล็อกเงื่อนไข เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการได้
บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เจ้าของมาร์เก็ตแชร์ สินเชื่อรถจักรยานยนต์ อันดับหนึ่งของประเทศ พ่วงด้วยผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ครบวงจร เช่น สินเชื่อรถยนต์, สินเชื่อรถเพื่อการเกษตร, สินเชื่อบุคคล นาโนไฟแนนซ์ เป็น 1 ใน 25 บริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญชวนร่วมทุนจากออมสิน
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร MTC เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทขอพิจารณารายละเอียดในหนังสือเชิญชวนก่อน คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมบอร์ด 2-3 วันนี้ เพราะธนาคารออมสินกำหนดให้ตอบรับภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2563
ทั้งนี้ ออมสินกำหนดให้ผู้ที่สนใจเสนอรายละเอียดต่อออมสิน โดยหลักการเบื้องต้น ธนาคารออมสินกำหนดรูปแบบการร่วมทุน เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยออมสินจะเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 49% และอีกรูปแบบคือ ธนาคารออมสินจะเสนอขอซื้อหุ้น เพื่อส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมการบริษัท โดยสัดส่วนหุ้นขึ้นกับบริษัทแต่ละแห่งจะนำเสนอ ภายใต้เงื่อนไขความผูกพันทางธุรกิจเป็นเวลา 3ปี
สำหรับแนวทางการหาพันธมิตรร่วมลงทุนของออมสิน จะทำให้ธนาคารได้เรียนรู้ระบบธุรกิจจำนำทะเบียน และการติดตามทวงถามหนี้ ขณะที่บริษัทผู้ร่วมทุนเป็นพันธมิตรก็จะได้รับเงินกู้อัตราดอกเบี้ยตํ่าและเครือข่ายแบงก์ออมสินที่มีอยู่กว่า 1,000 สาขา ซึ่งเงื่อนไขสัญญา 3 ปีหลังจากนั้นค่อยพิจารณา
“ผมนัดประชุมบอร์ดอีก 2-3 วัน เพื่อพิจารณาว่า จะเข้าเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนหรือไม่ ซึ่งหากสนใจ ก็จะต้องเสนอรายละเอียดและลักษณะของการร่วมลงทุนต่อแบงก์ออมสิน แต่หากข้อเสนอไม่สอดคล้องกับความต้องการ หมายความว่าจบดีล"
อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถหาข้อสรุปที่ดีได้ ทางออมสินจะดำเนินธุรกิจเอง เพราะการตัดสินใจเป็นผู้เล่นในตลาดเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่พยายามจะดึงดอกเบี้ยลงให้เหลือ 18% ต่อปี ซึ่งไม่แตกต่างจาก MTC ที่บางโปรดักต์ เราคิดดอกเบี้ยที่อัตรา 19% และเน้นเรื่องรถยนต์เป็นหลักก่อน
ไม่หวั่นโดนแย่งตลาด
ทั้งนี้ MTC มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 อยู่แล้ว ในแง่การตลาดคงไม่ได้ช่วยมากนัก เพราะบริษัทมีสาขาเกือบ 5,000 สาขา และมีความชำนาญในธุรกิจอยู่แล้ว และต้นทุนดอกเบี้ยถูก ปัจจุบันระดมทุน โดยการออกตั๋วสัญญาแลกเงิน (B/E) ต้นทุนประมาณกว่า 1% ต่อปี ส่วนหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ย 3.5-3.7%ต่อปี ซึ่งขณะนี้สภาพคล่องในตลาดมีสูง
ส่วนพอร์ตสินเชื่อคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 63,000 ล้านบาท และสิ้นปียังยืนตัวเลขไว้ที่ 71,000 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการสินเชื่อยังเติบโตต่อเนื่องในช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะไตรมาส 3 สินเชื่อขยายตัวได้ดี
โดยยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ 9 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งการอนุมัติได้ 100% ยังคงเกณฑ์เดิม และวงเงินกู้ประมาณ 50-60% ของมูลค่าหลักทรัพย์ เพราะสภาพอากาศและฝนตกตามฤดูกาล จึงเอื้อต่อกลุ่มลูกค้าของบริษัทที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และกลุ่มผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการใช้เงินช่วงเปิดเทอม
ข่าวที่เกี่ยยวข้อง