เอสเอ็มอีแบงก์รับ หนี้เสียเพิ่ม 3,000 ล้านบาท

09 ต.ค. 2563 | 09:30 น.

เอสเอ็มอีแบงก์คาดหนี้เสียสิ้นปีเพิ่มเป็น 20% ของสินเชื่อรวม แจงมีสินเชื่อต้องจับตาพิเศษ 10,000 ล้านบาท คาดเป็นหนี้เสียเพิ่ม 3,000 ล้านบาท

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) คาดการณ์ว่า ปีนี้ ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ปล่อยได้ 38,000 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อที่ต้องจับตาพิเศษ (เอสเอ็ม) ว่า จะเป็น หนี้เสีย(เอ็นพีแอล) ปัจจุบันมีประมาณ 10,000 ล้านบาท

เอสเอ็มอีแบงก์รับ หนี้เสียเพิ่ม 3,000 ล้านบาท

ธนาคารพยายามเข้าไปติดตามดูแล แต่คาดว่า เอสเอ็ม จะกลายเป็น หนี้เสีย จริงประมาณ 3,000 ล้านบาท ทำให้คาดว่า สิ้นปีนี้ธนาคารจะมีหนี้เสียประมาณ 19,000-20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 16,000-17,000 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามธนาคารคาดว่า รายได้ดอกเบี้ยของธนาคารจะลดลงประมาณ 700 ล้านบาท จากปีก่อน 5,200 ล้านบาท เป็น 4,500 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารจะมีผลดีขึ้นจากปีที่แล้วที่ติดลบกว่า 1,000 ล้านบาท ได้

ทั้งนี้เพื่อเป็นการดูแลลูกหนี้เอสเอ็มอีให้ผ่านพ้น วิกฤติโควิด-19 ไปได้ ธนาคารได้ขยาย มาตรการพักหนี้ ช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 6 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค.นี้ ออกไปถึงเดือนเม.ย.2564 โดยให้สิทธิลูกค้าที่มีสถานะชำระปกติ ณ วันที่ 31 ก.ค.2563 สามารถขยายเวลาพักเงินต้น และให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว

 

ส่วนหนี้ที่พักไว้  ธนาคารจะยกยอด ไปรวมให้ชำระในช่วงท้ายของสัญญา  และในช่วงที่ผ่อนปรนนี้จะไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต  

เอสเอ็มอีแบงก์รับ หนี้เสียเพิ่ม 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ลูกค้าที่ต้องการพักชำระหนี้เงินต้นเพิ่มเติม 6 เดือน สามารถลงทะเบียนผ่านคิวอาร์โค้ดในใบแจ้งหนี้ที่ทางธนาคารจะส่งไปให้ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ผ่านมา เอสเอ็มอีแบงก์ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ผ่านการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติให้ลูกค้าทุกรายเป็นเวลา 6 เดือนไปแล้ว 43,215 ราย  มูลค่ารวม 66,479 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารเตรียมร่วมมือกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (ไอแอม) และ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ บสส.เข้าแก้ไขปัญหาเอสเอ็มอีที่อ่อนแอจากโควิด-19  ผ่านโครงการ "วันใหม่-ไปต่อ" โดยจะนำลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของ 2 หน่วยงาน ซึ่งจะได้รับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และข้อกำหนดทางกฎหมาย สามารถลดภาระการชำระหนี้ เพื่อทำให้ธุรกิจพลิกฟื้นได้อีกครั้ง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บอร์ดสสว.เคาะงบ 1,113 ล้าน ปลุก 7 กิจกรรมเอสเอ็มอี 

สสว.ปั้นเอสเอ็มอี 4 พันราย สร้างรายได้ 472 ล้านบาท

เตรียมใช้เงินกู้ 6 หมื่นล้านบาท ให้บสย.ช่วยเอสเอ็มอี