12 ตุลาคม 2563 ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเข้ากระทรวงวันแรก เพื่อร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศลและกิจกรรมน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันยึดการทำงานเป็นหลัก ไม่ห่วงเรื่องการเมืองแทรกแซง โดยเน้นที่การทำงานมากกว่า
ทั้งนี้จะดูแลเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.การดูแลสภาพคล่องของภาคธุรกิจต่างๆ หลังจากได้รับกระทบจากโควิด-19 เพราะการเติบโตภาคเอกชน และภาคประชาชนมีสัดส่วนถึง 70% ต่อจีดีพี
2.การฟื้นฟูกำลังซื้อภายในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะคลายล็อคดาวน์แล้ว กำลังซื้อภายในประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก
3 .การฟื้นฟูการท่องเที่ยว ที่ต้องดูแลทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ โดยได้มีการหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ว่ามีปัญหาใดบ้างที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องของนักท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว และสายการบิน
4.เร่งรัดผลักดันการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ของจีดีพี ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ และผลักดันงบล้างท่อต่างๆ เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
“เศรษฐกิจกิจไตรมาสที่ 1 และ 2 ติดลบ ซึ่งก็เป็นกันทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ฉะนั้นเราต้องดูแลในระยะเร่งด่วน รวมทั้งจะต้องดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐให้มีเพียงพอในการบริหารฟื้นฟูประเทศ ขณะเดียวกัน ศบศ. ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขการใช้เงินภายใต้กรอบฟื้นฟูวงเงิน 4 แสนล้านบาท รวมไปถึงการขอซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และศบศ.ไปศึกษารายละเอียดอีกครั้ง ส่วนเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น กำลังซื้อภายในประเทศฟื้นตัวขึ้น การท่องเที่ยว การส่งออกเริ่มฟื้นตัว ภาระในการใช้เงินกู้ก็จะลดน้อยลงไป”นายอาคม กล่าว
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะมีมาตรการระยะยาว เพื่อเตรียมรับมือกับเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี ด้วยการเตรียมมาตรการรองรับการเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการประชุมสัมมนาต่างๆ โดยต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่จะเข้ามา ว่าไทยมีความพร้อมและปลอดเชื้อโควิด-19 ด้วย
นอกจากนี้ นายอาคม ยังได้กล่าวถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องว่า ค่าเงินบาทเป็นปัญหาโลกแตกที่ต้องเจอ ดังนั้นจึงต้องติดตามสถานการณ์ แต่เรื่องนี้ธปท.ดูแลอยู่แล้ว เพราะเป็นหน้าที่ของธปท.