นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจ กรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ โดยคาดว่าจะติดลบ 7.1% จากเดิมคาด 7.7% ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทย หลังจากการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้
รวมถึงจากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปลดล็อกดาวน์ และการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ รวมถึงการออกมาตรการช่วยเหลือและการเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ เอ็มเอ็มอี และรายย่อย
ด้านการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องนั้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความชัดเจนว่า จะไม่ต่อมาตรการพักชำระหนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ประสานกับธนาคารพาณิชย์ในเรื่องของมาตรการต่อเนื่อง ในการจัดกลุ่มลูกค้า เพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลในระยะต่อไปหลังจากมาตรการสิ้นสุดลงแล้ว
ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังนั้น ได้มีมาตรการช่วยเหลือเช่นเดียวกัน ซึ่งมีทั้งมาตรการพักชำระหนี้ที่ดำเนินการตามมาตรการพักชำระหนี้ของธปท. และดำเนินการตามมาตรการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเอง โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะเข้าไปดูแลลูกค้าหลังมาตรการของธปท.สิ้นสุดลงแล้ว
“มาตรการเสริมสภาพคล่อง หรือมาตรการพักชำระหนี้ ทางกระทรวงการคลังยังดูแลต่อเนื่อง โดยเฉพาะในขอบเขตของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับทั้งผู้ประกอบการและรายย่อย ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า”นายอาคม กล่าว
ส่วนกรณีที่ธปท.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้านั้นนายอาคม เชื่อว่า กำลังซื้อในประเทศจะกลับมาเป็นปกติก่อนช่วงที่เกิดโควิด-19 ได้ ขณะที่การท่องเที่ยวก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เห็นได้จากการทยอยเปิดประเทศเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้แล้ว ก็น่าจะทำให้สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ธปท.หั่นเป้าจีดีพี ปีนี้หดตัว 7.8%
EIC ปรับประมาณการจีดีพีปี 63 หดตัว 7.8%