เศรษฐกิจไทย แม้จะปรับดีขึ้นกว่าคาด แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังต้องการแรงสนับสนุนจาก อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เมื่อ 18 พฤศจิกายน ให้คง อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปีต่อไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด แต่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและแตกต่างกันมาก ระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยคาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะรายได้ของแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะกดดันการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เมื่อปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวเริ่มหมดลง
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ มีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ระบบการเงิน แม้จะมีความเปราะบางขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน แต่ยังมีเสถียรภาพ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มติดลบน้อยลงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2564 ส่วนระยะปานกลาง คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ส่วนสภาพคล่องในระบบ อยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่ธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสภาพคล่อง ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs
“ค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับดอลลาร์สรอ.แข็งค่าขึ้นเร็ว จากที่ นักลงทุนต่างชาติ กลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ว่าจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง จึงให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม”
นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังเห็นว่า การประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง
สำหรับมาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงควรเร่งเบิกจ่ายและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางอย่างตรงจุด ควบคู่กับการเร่งดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว
“ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมาย เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ความคืบหน้าการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กนง.มติเอกฉันท์ "คง" ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี
ธปท.ประเมินสินเชื่อโต 5% เอ็นพีแอลขยับ มั่นใจแบงก์ตุนเงินทุนสำรองรับมือ
ธปท.รุดหาช่องปรับเงื่อนไขสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
ธปท.ไฟเขียวแบงก์พาณิชย์จ่ายปันผลปี 63 แบบมีเงื่อนไข