การกลับเข้ามาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตร(บอนด์)ของนักลงทุนต่างประเทศช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน หลังผลเลือกตั้งสหรัฐและความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน ทำให้ เงินบาทแข็งค่า สุดในรอบ 10 เดือนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ระดับ 30.14 บาทบาทต่อดอลลาร์ ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ต้องออกมาตรการดูแลความสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อให้เกิดระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน(FX Ecosystem) คือ ปรับเกณฑ์ฝากเงินและโอนเงินระหว่างบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ(Foreign Currency Deposit: FCD), ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศ และกำหนดให้ลงทะเบียนแสดงตัวตน เพื่อซื้อขายตราสารหนี้ในครั้งแรก
นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ธนาคาร ทหารไทย หรือ TMB Analytics เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทั้ง 3 มาตรการของธปท.เป็นการเตรียมการเพื่ออนาคต ทำให้เงินบาทหยุดแข็งบางช่วง หลังออกมาตรการก่อนที่จะอ่อนค่าลง โดยช่วง 3 วันที่มีมาตรการ (20-24 พฤศจิกายน) เงินบาทอ่อนค่าลง 0.41% แต่เฉพาะเดือนพฤศจิกายน เงินบาทแข็งค่าขึ้น 2.75%
ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้าย แนวโน้มระยะสั้นเงินทุนน่าจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทย เพื่อเก็งกำไรจากราคาหุ้น ส่วนตลาดบอนด์นักค้าเงินเป็นห่วงว่า ธปท.จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม หลังจากที่ทางการส่งสัญญาณชัดว่า ไม่ต้องการเงินร้อนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเองยังต้องการเห็นมาตรการระยะสั้นด้วย
“แนวโน้มจะเริ่มเปลี่ยนไป โดยจะเห็นเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นมากกว่าบอนด์ ซึ่งหากเงินไหลเข้าหุ้นจำนวนมากจะทำให้ เงินบาทแข็งค่า และกระทบผู้ส่งออกไทย ดังนั้นมาตรการระยะสั้นคงต้องมีบ้าง อย่างที่กำหนดต้องลงทะเบียนแสดงตัวตน ก่อนซื้อขายบอนด์ครั้งแรกนั้น สามารถกำหนดให้ต้องป้องกันความเสี่ยงหรือทำเฮดจ์ในสัดส่วน 20% ของวงเงินที่เข้ามาซื้อบอนด์ระยะสั้น ที่มีอายุไม่เกิน 1ปี เพื่อลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรค่าเงินและเชื่อว่า จะหยุดการแข็งค่าของเงินบาทได้ แต่ต้องสื่อสารให้ชัดๆว่า บังคับเฮดจ์เฉพาะเงินที่เข้ามาลงทุนในบอนด์อายุ 3 เดือนหรือตํ่ากว่า 1ปีเท่านั้น”
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS)กล่าวว่า เป็นความตั้งใจของธปท.ในการดูแลความสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่การเปิดให้นักลงทุนออกไปลงทุนหลักทรัพย์ต่างชาตินั้นโอกาสจะลดการแข็งค่าของเงิน บาทยาก เพราะเงินลงทุนของไทยไม่ได้มีจำนวนมากเท่าเงินนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาและการให้ลงทะเบียนการซื้อและขายบอนด์เป็นมาตรการเตรียมรองรับระยะยาว สำหรับนักลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาโดยยังไม่เห็นผลระยะสั้น
ปีนี้เงินหยวนแข็งค่ามากสุดในภูมิภาคเอเซีย โดยแข็งค่ากว่าบาท 7% และปีหน้าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัว ดังนั้นต้องดูแลไม่ให้บาทแข็งค่าเกินกว่าเงินหยวน เพราะเราทำการค้าหลักกับจีน ขณะที่ภูมิภาคเอเชียก็มี 2 ประเทศที่เงินอ่อนค่ากว่าไทยคือ อินเดียและอินโดนีเซีย ทำให้ไทยเสียเปรียบ 2 สกุลเงิน(รูปีและรูเปียห์)เพียง 1% ที่เหลือทุกสกุลเงินแข็งค่าทั้งหมด ดังนั้นต่อให้ใช้ดอลลาร์เป็นสกุลเงินแลกเปลี่ยนหลัก ก็ไม่กระทบส่งออกและท่องเที่ยว หรือในส่วนของเงินยูโรแข็งค่ากว่าเงินบาท 7% และเยนแข็งค่ากว่าเงินบาท 5.7%
“เรายังมองเงินบาทเคลื่อนไหว 30.20 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นปีนี้ โดยอ่อนค่าประมาณ 1% ส่วนปีหน้าแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า ตั้งแต่ไตรมาสแรกจะเคลื่อนไหวที่ 29.30บาท/ดอลลาร์ และปลายปีอยู่ที่ 29บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายยังสลับเข้าและออกทั้งตลาดหุ้นและบอนด์ คาดว่า ทั้งปีจะมีเงินไหลเข้าบอนด์ 5 หมื่นล้านบาทจากปัจจุบันติดลบ”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าไม่มากหลัง ธปท.ออกมาตรการ เพราะเป็นจังหวะที่ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลงจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินเดียและอินโดนีเซีย ประกอบกับราคาทองคำร่วงลงมา ทำให้ผู้ค้าทองคำใช้เงินดอลลาร์เข้าซื้อทองคำ จึงลดการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง แต่หากราคาทองคำไม่ร่วงอาจจะเห็นเงินบาทกลับไปแข็งค่าที่ระดับก่อนประกาศมาตรการ
ส่วนนักลงทุนต่างประเทศนั้น ไม่กังวลต่อมาตรการของธปท.เช่น การเปิดเสรีบัญชี FCD เป็นการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการมากกว่า ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกชำระสกุลใดก็ได้ ไม่ได้ช่วยเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทในระยะสั้น, ส่วนการให้คนไทยไปลงทุนเป็นเรื่องดี เพราะธปท.ต้องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้เงินทุนไหลออกไปมากขึ้น แต่ต้องใช้เวลากว่าคนจะปรับทัศนคติออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเงินบาทจะไม่แข็งค่า แต่จะเห็นในระยะยาวจะมีความสมดุลมากขึ้น ส่วนการลงทะเบียนก่อนซื้อขายบอนด์ เชื่อว่าธปท.พยายามแยกผู้เล่นที่เข้ามาในตลาด เพื่อจะได้รู้ว่า ผู้เล่นที่เข้ามาเป็นสถาบันหรือเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่เก็งกำไร
กรุงไทยยังคงเป้าเงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่าในปลายปีหน้า มีโอกาสเห็นที่ 29 บาทต่อดอลลาร์ จากสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 30.15บาท/ดอลลาร์ แต่เงินบาทจะแกว่งตัวออกข้างไปเรื่อยๆ (Sideway) โดยธปท.คงดูแลไม่ให้บาทเคลื่อนไหวหลุด 30.30 บาท/ดอลลาร์ โดยจะเห็นว่าช่วงที่บาทขึ้นไปที่ระดับ 30.40 บาท ผู้ส่งออกทยอยขายดอลลาร์ออกมา ดังัน้นโอกาสน้อยที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่ามากๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ธปท.ออกมาตรการคุมเงินบาทเพิ่มเติม 9 ธ.ค.นี้
มาตรการธปท.เตรียมรับมือกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจจะมีโอกาสไหลเข้า
ผู้ว่าธปท.รับเล็งหามาตรการเหมาะสมดูแลบาทแข็งค่าเร็ว
ธปท.ลั่น พร้อมออกมาตรการดูแลเงินบาทแข็ง
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,631 วันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563