บริหารเงินอย่างไรให้อยู่รอดในยุค COVID-19

09 ม.ค. 2564 | 03:35 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2564 | 18:29 น.

คอลัมน์ มันนี่ ดีไอวาย 4.0 โดย : บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับ Money DIY 4.0 คอลัมน์ดีๆ ที่จะช่วยแนะนำการวางแผนทางการเงิน เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและถดถอยอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การผลิต การส่งออก การบริโภคส่วนเอกชน รวมทั้งทำให้เกิดความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดการเงินโลก 

 

วิกฤตการณ์ครั้งนี้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโลกครั้งยิ่งใหญ่ ส่งผลให้เอกชนในหลายภาคส่วนต่างตระหนักและเห็นความสำคัญของการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด และหลายคนคงทราบกันดีว่า “เงิน” เป็นปัจจัยหลักในการเลี้ยงชีพ ดังนั้นการบริหารจัดการด้านการเงินให้มีประสิทธิภาพในสถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

 

แน่นอนว่า “การวางแผนการเงิน” ที่ดี จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และทำให้การดำเนินชีวิตของคุณราบรื่นยิ่งขึ้น วันนี้จึงมีวิธีการบริหารการเงินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาภาพคล่องทางการเงินในช่วงวิกฤตมาฝากกันครับ

 

1.เช็กสภาพทางการเงินของตัวเอง  

 

ก่อนเริ่มวางแผนทางการเงิน อย่างแรกที่ควรทำคือการสำรวจสถานะทางการเงินของตัวเองก่อน เพื่อเป็นการทราบข้อมูลการเงินโดยภาพรวม และจดบันทึกเก็บไว้เป็นสภาพการเงินในปัจจุบัน เพื่อคุณจะได้ทราบว่า เหลือเงินเก็บอยู่เท่าไหร่ มีหนี้สินที่จะต้องจ่ายอีกเท่าไหร่

 

2.ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

 

จดบันทึกรายการรับเงินและรายการจ่ายเงินเป็นประจำวัน หรือประจำเดือน อย่างสม่ำเสมอ เช่น ค่าอาหารเครื่องดื่ม ค่ารถโดยสารประจำทาง ค่าเช่าห้อง ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าประกันต่างๆ ค่าบัตรเครดิต และช่วงเทศกาลต่างๆ แต่ละปี มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างให้วางแผนจดบันทึกรายการที่จะต้องซื้อเอาไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้คุณมีสติในการใช้จ่ายมากขึ้น หากทำเป็นประจำจนเป็นนิสัย จะทำให้คุณเป็นคนประหยัดอดออม ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือยไปกับของที่ไม่จำเป็น

 

เช็กสภาพทางการเงินของตัวเอง

 

3.หารายได้เสริมเพื่อสร้างรายได้ 

 

เมื่อคุณได้วางแผนการใช้จ่ายไว้อย่างเป็นระบบ คุณจะสามารถคาดการณ์รายจ่ายที่จะเกิดขึ้นได้ และหากว่ามีเวลาว่างก็ควรหาวิธีเพิ่มรายรับเพื่อเอามาใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นที่จะเกิดขึ้นและเงินส่วนที่เหลือก็เอามาเก็บเป็นเงินออมไว้ใช้ในยามจำเป็น ซึ่งแนวทางสร้างรายได้เสริมขึ้นอยู่กับความถนัดและความชอบของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นขายสินค้าออนไลน์ ทำงานพาร์ทไทม์ ทำ blog หรือ website เล่นหุ้น หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ก็แล้วแต่ความชอบและความถนัดของแต่ละคน

 

4.ประกันสุขภาพ 

 

 เนื่องจากการเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่สามารถคาดการณ์ได้ สิ่งที่ตามมาคือค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง แต่หากคุณทำประกันสุขภาพเอาไว้คุณจะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เลย แถมยังเพิ่มความอุ่นใจให้คุณเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อีกทั้งคุณจะได้รับคำปรึกษาและการดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างดี

 

5.ออมเงิน 

 

อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน การมีเงินออมไว้เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณอุ่นใจ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่มุ่งหวัง โดยเราสามารถตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า ในแต่ละเดือนเราจะออมเงินเป็นสัดส่วนเท่าไรของรายได้ และเก็บสัดส่วนที่ต้องการออมไว้เป็นอย่างแรก จากนั้นค่อยนำไปใช้จ่าย เมื่อเราออมเงินไปเรื่อยๆ เรายังสามารถนำเงินออมนั้น ไปต่อยอดทำให้งอกเงยเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฝากประจำธนาคาร การลงทุนในหุ้น หรือซื้อสลากออมสินก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

 

ออมเงิน 

 

 

6.เงินสำรองฉุกเฉิน 

 

เงินสำรองฉุกเฉินต่างจากเงินออมอย่างไร เงินสำรองฉุกเฉิน จริงๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งจากการออมเงิน แต่เพียงจุดประสงค์ในการใช้เงินก้อนนี้แตกต่างกัน เงินสำรองฉุกเฉินก็ตรงตัวอยู่แล้ว ว่ามีไว้ใช้เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น เมื่อเราตกงานโดยไม่คาดคิด หรือมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเรา ก็ยังมีเงินในส่วนนี้ที่เราปันเก็บไว้อยู่นั่นเอง

 

การระบาดของโควิดยังไม่หายไปง่ายๆ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปยังไม่มีใครรู้ได้ อยากให้ทุกคนพึงระวังการใช้จ่ายของตัวเอง และมีกำลังใจในการหารายได้ต่อไป ค่อยๆ วางแผนการเงิน และทำตามเท่าที่ไรทำไหว ไม่ต้องกดดันจนเกินไป หากมีปัญหาก็ขอให้มี “สติ” ไตร่ตรอง แก้ไปทีละอย่างนะครับ


หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,643 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2564